A Blogger by Beamcool

Sunday, July 19, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน ภาษา ( ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะพูด )

Posted by wittybuzz at 2:32 AM
ฉันยังจำได้ว่าตัวเองกระวนกระวายและตื่นเต้นแค่ ไหนเมื่อกลายเป็นคุณแม่ลูกแฝดมือใหม่ ในช่วงแรกๆ ทุกนาทีหมดไปกับงานเลี้ยงลูกๆ ถ้าไม่ได้ให้นมลูกหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอยู่ ดิฉันก็จะง่วนอยู่กับการซักผ้า เตรียมขวดนมหรือไม่ก็สอนให้ลูกๆ พูด!

ทุกวันนี้การสอนลูกพูดอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญมากนัก แต่ดิฉันอยากบอกว่าคุณอาจกำลังสอนลูกพูดโดยไม่รู้ตัว ทุกคำที่คุณเอ่ยกับลูกน้อยล้วนมีค่า ซึ่งเขาจะได้ยิน และสมองที่กำลังพัฒนาของเขาจะนำคำนั้นๆ ไปประมวลผล

ในช่วงระยะเวลาสามปีแรก พัฒนาการทางภาษาจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แก้วตาดวงใจตัวน้อยๆ ของคุณจะใช้เวลานานพอสมควรในการซึมซับและทำความเข้าใจกับภาษาที่จะกลายเป็น พื้นฐานในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตก่อนที่จะพูดคำแรกได้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเป็นแม่แบบทางภาษาที่ดีที่สุดเท่า ที่จะทำได้ให้แก่ลูกน้อยที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนา ในกรณีเช่นนี้ ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ ยิ่งดีท่านั้น!

ลูกน้อยฟังอยู่ตลอดเวลา

ลูกน้อยมักจะฟังคำพูดรอบตัวตลอดเวลา ในช่วงชีวิตสามสี่เดือนแรก เขาจะตอบสนองได้ดีที่สุดกับประโยคสั้นๆ เสียงสูงๆ และประโยคที่ "ร้องเป็นเพลง” คริสต้า ยอกคึม ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและแม่ของน้องคาร์ลินอายุ 10 สัปดาห์กล่าวว่า “ฉันรู้ว่าเรื่องที่ฉันพูดไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่หรอก แต่วิธีที่พูดถึงจะสำคัญ ถึงแม้ว่าฉันจะอ่านนิตยสารให้เขาฟัง แต่ถ้าอ่านโดยใช้เสียงแบบเด็กๆ ละก็ เขาก็จะมีการตอบสนอง”

การมองลูกน้อยในขณะที่คุณพูดกับเขาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เขาจะได้สบตาและมองปากของคุณ คุณคริสต้ากล่าวว่าเธอรู้สึกผิดอยู่บ่อยครั้งเมื่อลูกของเธอตื่นขึ้นมาในขณะ ที่นั่งอยู่เบาะหลังภายในรถ “ฉันชอบมองดูลูก มองหน้าและสบตากัน” เธอกล่าว การแสดงออกทางสีหน้า การเคลื่อนไหวปากและเสียงที่คุณพูด ทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นสมองของเด็กและช่วยให้ลูกน้อยของคุณเรียนรู้วิธีการ สร้างคำ คุณคริสต้ากล่าวว่า “เวลาที่แกมองฉัน แล้วฉันทำตาโต แกก็จะทำตาโตเหมือนกัน เวลาที่ฉันคุยกับลูก เขาจะมองปากและลิ้นฉัน แล้วเขาก็จะอ้าปากตาม”

ในที่สุด ลูกน้อยของคุณจะพยายามเลียนเสียงเหล่านี้โดยเคลื่อนไหวปากและลิ้นไปในลักษณะ ต่างๆ ซึ่งเรียกว่าการอ้อแอ้ จากการอ้อแอ้นี้จะพัฒนาไปสู่การสร้างคำ! ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งคุณอาจจะเดินผ่านลูกในขณะที่เขากำลังเม้มปากเข้าด้วยกันและเปล่ง เสียงขึ้นจมูกออกมาอย่างตลกๆ ว่า “มา” เขาอาจจะชอบเสียงแบบนี้ เขาก็เลยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก “มา ม๊า” แล้วคุณก็ตื่นเต้นดีใจเพราะว่าลูกเรียกชื่อคุณและคุณก็ตอบกลับเขาไปว่า “ใช่แล้วจ๊ะ มาม๊าเป็นแม่ของหนู” แล้วคุณก็อุ้มเขาขึ้นมา ยิ้มและหอมแก้มเขา แล้วพูดว่า “มาม๊าอยู่นี่นะจ๊ะ” ลูกน้อยของคุณชอบได้รับการเอาใจใส่ และในที่สุดเขาก็ตระหนักว่าเวลาที่พูดเสียงตลกๆ ว่า “มาม๊า” คุณก็จะอุ้มและพูดกับเขา ไม่ใช่เป็นเพราะว่าลูกน้อยของคุณเรียนรู้โดยธรรมชาติว่าเสียงตลกๆ “มาม๊า” หมายถึงตัวคุณ ที่จริงแล้ว คุณจับเสียงอ้อแอ้ที่เขาพูดได้เป็นคำและก็ตอบสนองต่อคำที่เขาพูด จากนั้นคุณก็พูดคำนั้นซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งลูกของคุณเรียนรู้ว่าหากพูดว่า “มาม๊า” คุณก็จะมาหา

พูดไม่หยุด

ซาร่า ซัมเนอร์ อาจารย์ด้านการศึกษาพิเศษและคุณแม่น้องมาเดอลินอายุ 25 เดือนกล่าวว่า “ฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ฉันพูดกับเขาโดยใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ” เจ้าตัวน้อยของคุณอาจจะไม่พูดตอนอายุ 6 เดือน แต่เขาฟังรู้เรื่อง ความเข้าใจเป็นสิ่งที่เกิดก่อนการพูด ดังนั้นจึงควรกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของเด็กผ่านทางประสบการณ์ คุณซาร่ากล่าวว่า “ฉันมักจะอธิบายสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่ อธิบายว่าเขากำลังเล่นอยู่กับอะไรและว่าเราจะไปไหนให้เขาฟังอยู่เสมอ” การพูดคุยกับลูกน้อยของคุณในขณะที่คุณกำลังทำกิจวัตรประจำวันอยู่ ในระหว่างที่คุณไปซื้อของหรือในขณะที่คุณกำลังผ่อนคลายกับหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่ง จะเป็นวิธีที่ดีมากที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณได้รับรู้ถึงโครงสร้างทางภาษาที่ มีความหลากหลายและรู้ถึงคำศัพท์มากมาย

เด็กหลายคนจะพูดคำแรกได้ก่อนอายุครบหนึ่งขวบ แต่ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เด็กอาจจะพูดคำแรกได้ก่อนหรือหลังอายุ 12 เดือน แต่โดยปกติแล้วเรามักจะได้ยินเด็กพูดคำแรกตอนช่วงอายุประมาณนั้น หนึ่งในสิ่งที่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มากที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจว่าลูกน้อยของตนเองต้องการอะไร อะไรๆ จะง่ายขึ้นมากทีเดียวเมื่อลูกน้อยของคุณบอกได้ว่าอยากดื่ม “น้ำผลไม้” แทนที่จะเอาแต่ร้องไห้ ในขณะที่คุณกำลังค้นข้าวของในตู้เย็นออกมาจนหมดจนกระทั่งเจอน้ำผลไม้ “ฉันพยายามอย่างมากที่จะช่วยให้แมดดี้สื่อสารได้รู้เรื่อง” คุณซาร่ากล่าว “ฉันเห็นว่าเขาอารมณ์ไม่ค่อยฉุนเฉียว...เพราะว่าเขาสามารถสื่อสารได้ว่าเขา ต้องการอะไรตั้งแต่อายุน้อยๆ”

โดยทั่วไปลูกน้อยจะเริ่มใช้ท่าทางได้เมื่ออายุประมาณ 6 ถึง 9 เดือน และมักจะใช้ท่าทางก่อนที่จะใช้ภาษาพูดได้อย่างจริงๆ จังๆ ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเริ่มนิยมใช้ภาษาท่าทางกับลูกน้อยเพื่อลดปัญหา ในการสื่อสาร คุณคริสต้าประสบความสำเร็จอย่างมากในการสอนภาษาท่าทางให้กับเด็กเล็กๆ ก่อนที่พวกเขาจะพูดได้ “ฉันเห็นว่าวิธีนี้ได้ผลกับหลานสาวและหลานชายของฉันเอง” คุณคริสต้ากล่าว “พวกเขาเรียนรู้วิธีการส่งสัญญาณท่าทางว่า “เสร็จแล้ว” “เอาอีก” “ขึ้น” และ “ลง” และวิธีนี้ก็ช่วยได้มากเลยค่ะ”

คุณคริสต้ามีความรู้สึกว่าการใช้สัญญาณหรือท่าทางตามธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญ นำไปสู่ความสำเร็จในการสื่อสาร “ฉันจะกระตุ้นให้ลูกสาวของฉันส่งสัญญาณและแสดงท่าทาง” คุณคริสต้ากล่าว “ถ้าเขาเข้าใจ ก็เยี่ยมไปเลย! แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจ ฉันก็ไม่ยัดเยียดให้เขา”

การวิจัยบ่งบอกว่า รูปแบบการสื่อสารเบื้องต้นนี้จะช่วยลดความหงุดหงิดใจโดยรวมระหว่างคุณพ่อคุณ แม่กับลูกน้อย คุณซาร่ากล่าวว่า “เราแสดงภาษาท่าทางกับแมดดี้เมื่อตอนแกอายุได้ 8 เดือน แต่แกเริ่มใช้คำพูดได้เร็วมากหลังจากที่ค่อยๆ ลดการใช้ภาษาท่าทางลง”

เพลงประกอบท่าทางเช่น “แมงมุมลายตัวนั้น” หรือ “กำมือขึ้นแล้วหมุนๆ” ไม่แค่เพียงกระตุ้นสมองของลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังสอนคำคล้องจอง คำศัพท์ ภาษาและท่าทางให้กับลูกอีกด้วย นอกจากนี้ การร้องเพลงยังช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่สร้างความรู้สึกสงบและช่วยปลอบประโลม เด็กที่กำลังร้องไห้ได้ด้วย

ไม่ว่าคุณจะกำลังร้องเพลง กำลังอ่านหนังสือหรือเพียงแค่พูดคุยกัน การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา! การมีปฏิสัมพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยความรักเช่นนี้ จะช่วยให้การพัฒนาภาษาของลูกน้อยเป็นไปด้วยดี ดังนั้นคุณควรจะเล่าเรื่องราวในแต่ละวันให้ลูกน้อยฟัง ผิวปากในระหว่างที่ทำงานหรืออ่านตำราทำกับข้าวให้เจ้าตัวน้อยฟัง เพราะภาษาเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตของลูกน้อย

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

0 comments:

Post a Comment

 

Mama And Baby Care Copyright © 2009 Baby Shop is Designed by Ipietoon Sponsored by Emocutez