A Blogger by Beamcool

Monday, August 31, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( การเล่นเมื่อลูกน้อยโตขึ้น )

Posted by wittybuzz at 7:42 AM 0 comments
การเล่นเป็นวิธีที่เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ โลกรอบๆ ตัวเขา บทความนี้นำเสนอเกี่ยวกับการเล่นและพัฒนาการตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าเด็กแต่ละช่วงอายุเล่นอย่างไร และอธิบายถึงการเลือกอุปกรณ์การเล่นที่เหมาะสมให้กับลูกด้วย

วัยแรกเกิดถึง 6 เดือน

ในช่วงเดือนแรกๆ ประสาทสัมผัสของเด็กจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ เขาจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในระยะ 8-14 นิ้ว เขาชอบฟังเสียงที่นุ่มนวลและเสียงดนตรี เสียงกระซิบและเสียงคุณแม่ร้องเพลง

เมื่ออายุประมาณ 3-6 เดือน ลูกน้อยจะสามารถดูดนิ้วมือและคว้าของเล่นที่วางบนมือของเขาได้ นอกจากนี้ เขายังเริ่มเอื้อมหยิบของเล่นและส่งของเล่นไปมาระหว่างมือทั้งสองข้าง\

ให้หาของเล่นชิ้นใหญ่ๆ สีสันสดใส ส่งเสียงได้และมีเสียงเพลงหรือถ้าเคลื่อนไหวได้ด้วยก็ยิ่งดี อย่างเช่น โมบาย นอกจากนี้ ของเล่นในช่วงนี้ต้องมีความปลอดภัยเมื่อเด็กเอาเข้าปากด้วย

อายุ 6-12 เดือน

เมื่ออายุ 9 เดือน เด็กจะรู้ตัวว่าของชิ้นนั้นอยู่ใกล้ แม้ว่าเขาจะไม่เห็นก็ตาม คุณแม่อาจซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของเขาไว้ใต้ผ้าห่ม และเขาก็จะเปิดผ้าขึ้น เย้ นั่นไงเจอแล้ว!

นอกจากนี้ ลูกน้อยยังเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ทั้งคลาน ตั้งไข่ และค่อยๆ ขยับตัวไปช้าๆ นอกจากนี้ เขายังใช้มือทั้งสองข้างหยิบจับอะไรก็ตามที่เขาเจอบนพื้นใส่ปากได้คล่องขึ้น

ลูกบอลเป็นของเล่นชิ้นโปรดของเด็กวัยนี้ เขาสามารถคลานตามลูกบอล ขว้างและมองลูกบอลตกกระดอนพื้นได้

เมื่ออายุได้ประมาณ 9 เดือน เขายังชอบเล่นกล่องหยอดบล็อกรูปทรงต่างๆ ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหาของเขา แล้วยังมีโทรศัพท์เด็กเล่นซึ่งเขาสามารถเล่นเลียนแบบการโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้ เขายังสามารถเริ่มที่จะวางของซ้อนกันเป็นกองๆ ได้อย่างคร่าวๆ เมื่ออายุใกล้จะ 12 เดือน

เมื่อเขาเริ่มหัดเดิน เขาจะชอบผลักของเล่นที่เขาเกาะอยู่ และก้าวไปข้างหน้าประมาณสองสามก้าว

อายุ 12-24 เดือน


เขาจะเริ่มสำรวจทุกซอกทุกมุมในบ้าน มือทั้งสองข้างจะทำงานประสานกันมากขึ้น เขาสามารถวาดภาพได้อย่างหวัดๆ และเริ่มเสาะหาของเล่น เขาจะเริ่มมีความคิดในการเล่นมากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำชามใบนี้หล่นนะ?

ความอยากรู้อยากเห็นในตัวจะผลักดันให้เขาลองทำนู่นทำนี่ซ้ำๆ เพื่อสร้างความชำนาญในสิ่งที่เขาเล่น เมื่อเขาอายุ 24 เดือน เขาจะทดสอบข้อจำกัดของตัวเองและเริ่มที่จะยืนกรานความเป็นตัวของตัวเอง เขาจะเป็นจอมอาละวาดตัวฉกาจ เพราะเขาเริ่มอยากให้คุณรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่!

ในวัยนี้ การเล่นของเด็กจะมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเลียนแบบชีวิตประจำวันของพ่อแม่อีกด้วย เขาชอบเกมทุกอย่างที่ต้องใช้แรง

เตรียมของเล่นที่ต้องใช้แรงผลักและดึงให้เขาเล่น หาบล็อกตัวต่อขนาดใหญ่ให้เขาเล่น เนื่องจากมือทั้งสองข้างของเขาทำงานประสานกันมากขึ้นและเริ่มวางของซ้อนกัน เป็นกองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หาดินสอสีหลายๆ แท่งกับกระดาษให้เขาเริ่มวาดเขียน

หาที่ปลอดภัยไว้ให้เขาปีนป่าย เล่นซ่อนแอบ สไลด์ และฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่กำลังพัฒนาของเขา

ปริศนาตัวต่อจะสร้างความสนใจให้กับเด็กอายุนี้ เพราะเขาสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น และเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก การทำเสียงด้วยเครื่องมือเล็กๆ เป็นประสบการณ์น่าตื่นเต้นสำหรับเขา เนื่องจากเขาจะได้เรียนรู้จังหวะและท่วงทำนอง

บทบาทของพ่อแม่

คุณพ่อคุณแม่เป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดของลูกน้อย เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์มักเป็นผลมาจากการที่ผู้ใหญ่เข้าไปมีส่วนเกี่ยว ข้องกับการเล่นของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีส่วนร่วมและเล่นกับลูกตามระดับวัยของเขา เวลาเล่นด้วยกันทุกวันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ลูก

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Sunday, August 30, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( ของเล่นสำหรับลูกน้อย วัยแรกเกิดที่มีสีสันตัดกัน )

Posted by wittybuzz at 3:24 AM 0 comments
เมื่อตอนที่ท้องลูกคนแรก ตอนนั้นฉันอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้อง นอกจากจะใส่ใจอาหารทุกอย่างที่ทานเข้าไปและคร่ำเคร่งทำการบ้านจากชั้นเรียน สำหรับคลอดแล้ว ฉันยังเป็นกังวลเกี่ยวกับการตกแต่งห้องสำหรับลูกน้อยอีกด้วย ฉันรู้มาว่าเด็กแรกเกิดดูเหมือนจะชอบลวดลายสีขาวดำมากกว่า แต่ผ้าปูเตียงลายกราฟิกสีขาวดำที่มี สีแดงแซมอยู่นิดหน่อย ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ!

ท้ายที่สุดเราก็ลงเอยที่ผู้ปูเตียงลายรูปสัตว์ที่สีส่วนใหญ่เป็นสีพาสเทล และก็เลือกของเล่นและของตกแต่งที่เป็นแต่สีขาวดำ อย่างไรก็ตาม ฉันก็ต้องแปลกใจที่ลูกของเราสังเกตเห็นของที่มีสีขาว-ดำได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปาร์คเกอร์ชอบดูโปสเตอร์ลายตาหมากรุกสีขาว-ดำที่เราติดเอาไว้เหนือโต๊ะ เปลี่ยนผ้าอ้อมของเขาอย่างเพลิดเพลินใจ

ทำไมของที่สีสันตัดกันจึงดึงดูดใจเด็กเล็กๆ สามารถหาตำตอบได้ในส่วนของสายตาและสมองของเด็กวัยแรกเกิด

ลูกน้อยมองเห็นอะไรบ้าง

เมื่อแรกเกิด ลูกน้อยจะสามารถมองเห็นได้ในระยะประมาณ 10 นิ้ว นอกเหนือจากระยะนั้นแล้วภาพที่ลูกน้อยมองเห็นจะไม่ชัด และก็มองไม่เห็นสีสันเช่นกัน การมองเห็นจะพัฒนาขึ้นเมื่อลูกน้อยโตขึ้นและเซลล์ประสาทตาเจริญเติบโตเต็ม ที่แล้ว เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน เขาอาจมองเห็นสีแดง ส้ม เขียวและสีเหลือง เมื่ออายุได้ 4 เดือน เขาจะสามารถแยกแยะสีทั้งหมดในแท่งสเปคตรัมได้ และการมองเห็นของเขาจะพัฒนาเกือบเทียบเท่ากับผู้ใหญ่

เด็กวัยแรกเกิดชอบมองดูอะไรก็ตามที่พวกเขามองเห็น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาดูจะชอบของที่มีสีสันตัดกันหรือสีขาวดำมากกว่า นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าเด็กๆ ยังชอบลวดลายบางอย่างเป็นพิเศษด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้า

“โดยสัญชาตญาณแล้ว เด็กๆ ดูเหมือนจะชอบจ้องมองใบหน้ามากเป็นพิเศษ โดยเขาจะชอบมองอะไรก็ตามที่เป็นรูปไข่ที่มีจุดสองจุดเป็นดวงตาและเส้นหนึ่ง เส้นเป็นปาก” ดร.ไลส์ เอเลียต ผู้แต่งหนังสือ What's Going on in There? และ the Brain and Mind Develop in the First Five Years of Life (แบนตัม, 2543) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเซลล์ชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ชิคาโก กล่าวว่า “นอกจากนี้ เด็กๆ ยังชอบลวดลายหนาๆ อย่างเช่น กระดานหมากรุกหรือใจกลางเป้าของกระดานปาลูกดอกอีกด้วย”

ของเล่นสีขาวดำกระตุ้นความสนใจของเด็กได้มากกว่าจริงหรือ

อะไรก็ตามที่ลูกน้อยชอบจ้องดูจะกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็นของเขา และเขาจะชอบมองลวดลายสีขาวดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 เดือนแรก ดังนั้น ถ้าคุณแม่หาโปสเตอร์ลายขาวดำสวยๆ หรือของเล่นเด็กที่มีสีสันตัดกันและมีเสียงกรุ๊งกริ๊งมาให้เขาเล่น ก็จะดีมาก

แต่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการหรือไม่ถ้าหากคุณแม่ไม่เตรียมของเล่นสีขาวดำให้กับ เขาเล่นเยอะๆนั้น ดร.เอเลียต กล่าวว่า “อาจจะไม่มีผล เพราะสีขาวดำไม่ได้มีความมหัศจรรย์อะไรเลย” ดร. เอเลียตชี้แจงว่าข้าวของที่มีสีสันตัดกัน ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ใบหน้า หรือแม้แต่เงาที่เกิดจากเสาเตียงนอน ก็จะดึงดูดความสนใจจากลูกน้อย “โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าเด็กไม่มีของเล่นที่สีตัดกันแล้ว เขาก็จะหาของที่มีสีตัดกันตามธรรมชาติ” ดร.เอเลียต กล่าวเสริม

“เด็กๆ ไม่ได้เสียโอกาสแต่อย่างใดถึงจะไม่มีของเล่นที่มีสีขาว-ดำ” เพ็นนี วอร์เนอร์ ผู้สอนพัฒนาการเด็ก วิทยาลัย ไดอาโบล วัลลี่ย์ คอลเลจ ในซาน เรมอน เมืองคาลิฟ ผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับพ่อแม่และเด็กในการดูแลและการพัฒนาเด็กมากกว่า 30 เล่ม รวมทั้งหนังสือชื่อ Smart Start for Your Baby (สำนักพิมพ์ Meadowbrook Press, 2544) กล่าวเห็นด้วย “ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยก็คือใบหน้าของพ่อแม่” เพ็นนีกล่าว “ใบหน้าเคลื่อนไหวได้ จึงทำให้เกิดสีสันตัดกัน และลูกน้อยจะเริ่มกระบวนการรับรู้จากจุดนี้นี่เอง”

และอย่าลืมสีสันสดใส! จากทั้งหมดที่กล่าวมา ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสีสันพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก เพ็นนีกล่าวว่า “ยิ่งสอนให้ลูกน้อยรู้จักสีสันมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่าไร เขาก็จะยิ่งสามารถแยกแยะความแตกต่าง [ของสี] ได้เร็วขึ้นเท่านั้น” เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน ลูกน้อยจะมองเห็นและสนุกกับสีสันทั้ง 7 สีของสายรุ้งได้

การใช้สีขาว-ดำ

ลูกชายฝาแฝดของของคาเรน สปริง มีของเล่นสีขาว-ดำชิ้นโปรดชิ้นหนึ่ง คาเรน คุณแม่ลูกสองจากเมืองเด็ปฟอร์ด รัฐนิวเจอร์ซี่ กล่าวถึงชุดไพ่พลาสติกบนพวงกุญแจสุดโปรดของลูกชายของเธอ “ของเล่นชิ้นนั้นมีลวดลายสีขาวและสีดำ และลูกชายทั้งสองคนของฉันชอบถือพวงกุญแจนั่นมาก พวกเขาเขย่าเล่นแล้วจ้องดูลวดลายบนนั้น” เธอกล่าว

คุณแม่สามารถหาอะไรก็ได้ตามธรรมชาติที่มีตัดกันเพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยเล่น เพ็นนีแนะนำว่าให้ใช้ของเล่นขนาดเล็ก เช่น ของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถในการมองเห็น “ใช้ของเล่นขนาดเท่าฝ่ามือ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เกินวิสัยในการมองเห็นของลูกน้อย...ถือให้ห่างจากเขา ประมาณ 10 นิ้ว และเคลื่อนไหวไปมา” เพ็นนีกล่าว “การทำเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยเริ่มมองตามและมองไปรอบๆ”

นอกจากนี้ โมบายเป็นของเล่นที่ดีมากสำหรับเด็กที่ยังเล็กมาก เพ็นนีแนะว่า ควรใช้โมบายที่มีขนาดใหญ่พอที่เขาจะมองเห็นได้และอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

และขอย้ำว่า ไม่มีของเล่นชิ้นใดที่จะแทนที่ความรักเต็มเปี่ยมจากผู้ดูแลได้ “ของเล่นที่ดีที่สุดก็คือคนจริงๆ ที่มองเข้าไปในดวงตา [ของลูกน้อย] ได้อย่างลึกซึ้งและพูดคุยหรือกระซิบ หรือร้องเพลงให้เขาฟัง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นทั้งทางภาพ ทางเสียง ทางภาษาและทางสังคมไปพร้อมๆ กัน” ดร.เอเลียต กล่าว

เคล็ดลับการเลือกของเล่นชิ้นแรก

การเลือกของเล่น:

* ควรอ่านฉลากก่อนซื้อ! มองหาฉลากความปลอดภัยบนผลิตภัณฑ์นั้นและใส่ใจกับคำเตือนบนฉลาก
* ของเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบควรมีขนาดใหญ่พอที่เด็กไม่สามารถกลืนลงคอได้ซึ่งอาจเป็นอันตรายและต้อง ไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถถอดออกได้ เมื่อมีข้อสงสัย ให้ทำการทดสอบโดยใช้วิธีที่ง่ายๆ ดังนี้ ของเล่นมีขนาดที่จะสอดผ่านแกนกระดาษทิชชู่ได้หรือไม่ ถ้าสอดผ่านได้ แสดงว่าของเล่นนั้นมีขนาดเล็กเกินไป
* ใส่ใจเป็นพิเศษกับของเล่นที่มีสายหรือเชือก เนื่องจากของเล่นดังกล่าวอาจพันรอบคอเด็กได้

การทำความสะอาด:

* ต้องทำความสะอาดของเล่นเมื่อของเล่นสกปรกอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นเมื่อลูกน้อยกำลังฟื้นตัวจากอาการป่วยและถ้ามีเด็กคนอื่นๆ เล่นของเล่นชิ้นนั้น
* ควรทำความสะอาดของเล่นตามที่ระบุไว้ในฉลากของเล่นทุกครั้ง อย่างไรก็ดี ของเล่นที่เป็นผ้าสามารถนำไปซักได้ด้วยน้ำร้อน ของเล่นพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ไม่มีแบตเตอรี่ โดยส่วนมากแล้วสามารถนำไปล้างในเครื่องล้างจานได้ ถ้าเป็นของเล่นที่มีแบตเตอรี่ ควรเช็ดด้านนอกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ จากนั้นจึงตากให้แห้ง
* หลังจากที่ทำความสะอาดของเล่นพลาสติกจนสะอาดหมดจดแล้ว ให้ฆ่าเชื้อโดยผสมน้ำยาทำความสะอาดภายในบ้าน ¼ ถ้วยกับน้ำหนึ่งแกลลอน จุ่มของเล่นที่ไม่มีแบตเตอรี่ลงในน้ำยานี้ จากนั้นจึงตากให้แห้ง ส่วนของเล่นที่มีแบตเตอรี่ ให้ใช้น้ำยานี้เช็ดทำความสะอาด จากนั้นจึงตากให้แห้ง

การบำรุงรักษา:

* หมั่นตรวจดูความเสียหายบนของเล่นเสมอ ควรทิ้งของเล่นที่ชำรุดไปเสีย
* เด็กโตขึ้น แต่ของเล่นไม่ได้โตตามไปด้วย คุณแม่ควรตระหนักถึงข้อจำกัดด้านอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของจำพวกโมบายแขวนเตียงนอนเด็ก ซึ่งควรแกะออกทันทีที่ลูกน้อยสามารถตั้งท่าคลานได้

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Saturday, August 29, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( สามวิธีง่ายๆ ในการ สานสัมพันธ์กับลูกน้อย วัยแรกเกิด )

Posted by wittybuzz at 3:24 AM 0 comments
“ฉันว่าฉันนี่โง่ซะจริง” คุณแม่ของหนูน้อยวัยหกสัปดาห์รายหนึ่งกล่าว “ฉันรู้ว่าเขาไม่เข้าใจที่ฉันพูดหรอก แต่ถึงยังไงฉันก็อดพูดกับเขาไม่ได้” เป็นความจริงที่ว่าทารกที่เด็กมากๆ จะไม่เข้าใจคำพูด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องโง่แต่อย่างใดที่คุณแม่พูดกับพวกเขา แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่าคุณแม่กำลังพูดอะไร แต่ลูกน้อยก็จะสนอกสนใจน้ำเสียงของคุณแม่ ต่อไปนี้เป็น 3 วิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถเริ่มสร้างพื้นฐานทักษะการสื่อสารที่ดีให้กับเขาได้

1. มาหัดพูดกันเถอะ!


การพูดคุยกับลูกน้อยวัยแรกเกิดเป็นการสอนสิ่งสำคัญมากในการสื่อสารทางสังคม ให้แก่เขา สิ่งที่สำคัญกว่าคำพูดจริงๆ ก็คือสารที่ส่งออกไปได้แก่คำว่า แม่รักหนูนะ หนูคือคนสำคัญของแม่

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กวัยแรกเกิดไวต่อเสียงแหลมสูงมากกว่า บางทีอาจเป็นเพราะว่าลูกน้อยได้ยินเสียงแม่หลายเดือนแล้วขณะที่เจริญเติบโต อยู่ในครรภ์ ไม่ว่ากรณีใด การคุยกับลูกน้อยจะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเสียงกับใบ หน้าของแม่ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับพัฒนาการทางภาษาในภายหลังอีกด้วย

เพราะอย่างนี้แล้ว คุณแม่ก็ควรคุยกับเจ้าตัวน้อย เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับสภาพอากาศ หนังสือที่กำลังอ่านอยู่ วันนี้ทานอะไรเป็นอาหารเที่ยง ชื่อของเล่นหรืออะไรก็ได้ คุณแม่จะเป็นผู้วางพื้นฐานทักษะการสื่อสารที่ดีให้แก่เขา และไม่ถือว่าเป็นการเร็วเกินไปเลย!

2. ฟังและตอบสนอง

เมื่อลูกน้อยอายุได้หนึ่งหรือสองเดือน พวกเขามักจะเริ่มสร้างเสียงของพวกเขาเอง เสียงเหล่านี้ไม่ใช่เสียงกระซิบกระซาบและเสียงอ้อแอ้เหมือนอย่างที่เด็กโต หน่อยทำ แต่พวกเขาก็จะไม่ได้เอาแต่ร้องไห้เช่นกัน ลูกน้อยอาจพูด “อ่า” หรือ “เอ่” หรืออาจเพียงแค่ทำเสียงด้วยลิ้น แม้ว่าเสียงเหล่านี้จะเป็นแค่เสียงง่ายๆ แต่มันก็เป็นขั้นแรกในการพัฒนาไปสู่ภาษาพูดเช่นกัน ผู้ใหญ่สามารถตอบสนองได้โดยเลียนเสียงสั้นๆ เหล่านี้ ในบางครั้งเจ้าตัวน้อยอาจทำเสียงนั้นซ้ำ และคุณแม่อาจกำลัง “พูดคุย” กับเขาโดยไม่รู้ตัวก็ได้! สิ่งนี้เป็นเกมที่น่าดึงดูดใจสำหรับลูกน้อย คนหนึ่งที่จะสนับสนุนการสื่อสารกับคุณ

เมื่อเด็กๆ เหนื่อยเกินไป หิวเกินไป หรือพักผ่อนน้อยจนเล่นไม่ไหวแล้ว พวกเขาจะ “บอก” ด้วยการร้องไห้ หรือปฏิเสธที่คุณแม่พยายามที่จะเล่นกับพวกเขา ขอให้คุณแม่สังเกตสัญญาณเหล่านี้ และอีกไม่นานคุณแม่ก็จะรู้ถึงลักษณะส่วนตัวของลูกน้อย

3. พูดกับเขาตอนไหนก็ได้


หากคุณแม่คิดว่าต้องสงวนการเล่นและการพูดคุยเอาไว้สำหรับ “ช่วงเวลาพิเศษ” คุณแม่อาจพลาดโอกาสสำคัญในการสื่อสารกับลูกน้อยไปก็ได้ เวลาดีที่สุดที่จะพูดคุยกับลูกน้อยคือ ตอนที่เขาตื่นนอนและกำลังตื่นตัว และปกติแล้วก็คือเวลาที่อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือแต่งตัวให้เขา ช่วงเวลาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงงานที่คุณแม่ต้องจัดการให้เรียบร้อย แต่มันคือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะสื่อสารกับลูกน้อย

ขณะที่ลูกน้อยนอนมองดูคุณอยู่ คุณอาจคุยกับเขาอย่างนิ่มนวล จั๊กจี้ที่ท้องของลูกน้อยเบาๆ หรือยื่นหน้าเข้าหาเขาและส่งเสียงกระซิบกับเขา พ่อแม่บางคนก็นำของเล่นที่มีสีสันสดใสมาวางไว้ใกล้ๆ เพื่อให้ลูกน้อยดูขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือแต่งตัวให้เขา

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Friday, August 28, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( การเล่นกับลูกน้อย วัยแรกเกิด )

Posted by wittybuzz at 12:20 AM 0 comments
คุณแม่จะรู้สึกทึ่งในช่วงสองสามสัปดาห์แรกที่ คุณแม่พาลูกน้อยวัยแรกเกิดกลับมาอยู่บ้าน ขณะที่เฝ้าดูเขา ดูเหมือนว่าเจ้าตัวน้อยจะไม่ได้ทำอะไรมากมายนอกจากกินแล้วก็นอน แต่อย่าเข้าใจผิด ความจริงแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมากกว่าที่คุณแม่คิดเสียอีก!

เด็กแรกเกิดเห็น ได้ยินและรู้สึกอะไรบ้าง


ดูเหมือนว่าเจ้าตัวน้อยจะตัวโตขึ้นแม้ในขณะที่คุณแม่เฝ้าดูเขาอยู่ ไม่เพียงแต่น้ำหนักตัวแรกเกิดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระยะเวลาประมาณห้า เดือนเท่านั้น แต่ความสามารถในการตอบสนองกับสิ่งรอบๆ ตัวก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน โดยแท้จริงแล้ว เด็กที่กำลังเจริญเติบโตดูเหมือนว่าจะพยายามเข้าหาคุณพ่อคุณแม่และคนทั้งโลก ด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดที่พวกเขามีอยู่

1. การมองเห็น

เมื่อเข้าเดือนที่สี่ ลูกน้อยสามารถเพ่งสายตาไปยังข้าวของต่างๆ ทั่วห้องได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะชอบมองของที่อยู่ไกลออกไปประมาณหนึ่งหลาก็ตาม ใบหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางสีหน้าไปเรื่อยๆ ก็ยังคงเป็นที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเด็กๆ แต่ในระยะนี้พวกเขาจะเริ่มมองตามของอย่างตั้งใจ และเนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เด็กๆ จะชอบสีสันที่สดใส บางทีคุณแม่อาจเพิ่มสายรุ้งสีสันสดใสในห้องของลูกน้อยที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะ เป็นสีอ่อนๆ ก็ได้

2. ลองฟังนี่ดูซิจ๊ะ!

ช่วงเวลานี้การฟังเริ่มมีความสำคัญสำหรับลูกน้อยมากยิ่งขึ้น เขาชอบฟังน้ำเสียงของคุณแม่เวลาที่คุณแม่พูด ร้องเพลงหรือฮัมเพลง (เมื่ออายุได้สี่เดือน ลูกน้อยจะรู้ว่าเสียงที่เขาได้ยิน เป็นเสียงของคุณพ่อคุณแม่ หรือเสียงของคนอื่น) คุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกน้อยอาจหยุดดูดนมเพื่อฟังเสียงใหม่ที่เขาได้ยิน และบางทีก็อาจหันหน้ามาหาเมื่อเขาได้ยินเสียงฝีเท้าของคุณแม่ใกล้เข้ามา เด็กวัยสี่เดือนจะชอบฟังเสียงลมพัดกระดิ่งดังกรุ๊งกริ๊งหรือแม้แต่เสียงติ๊ก ต๊อกของนาฬิกาและชอบฟังเสียงกล่องดนตรีที่ติดอยู่ด้านข้างเตียงด้วย crib.

3. การไขว่คว้าและสัมผัส

ในระยะนี้ทุกวันลูกน้อยจะจดจ่ออยู่กับการเชื่อมโยงเสียงและภาพที่เขาได้ยิน ได้เห็นเข้าด้วยกันโดยใช้ประสาทสัมผัสของเขา ตอนแรก เด็กๆ จะไม่รู้ว่ามือทั้งสองข้างเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขา เด็กทารกจะมองดูมือทั้งสองข้างของพวกเขาผ่านหน้าไปและหัวเราะเวลาที่เอามือ ข้างหนึ่งจับมืออีกข้าง จากนั้นเด็กๆ จะเริ่มเคาะของเล่นที่อยู่ในเตียง และ และถ้ามือข้างหนึ่งบังเอิญสัมผัสกับอีกข้างหนึ่ง เขาอาจหยุดด้วยความประหลาดใจ ในวัยสี่เดือน การกำมืออันเนื่องมาจากปฏิกิริยารีเฟล็กซ์จะหายไป และเขาจะกำมือ แบมือและเอานิ้วพันกันได้ จากนั้นเมื่ออายุได้ห้าเดือน เด็กจะสามารถเอื้อมมือไปคว้าของ ส่งของจากมือข้างหนึ่งไปยังมืออีกข้างได้ และท้ายที่สุดก็เอามือใส่ปากเพื่อสำรวจดูต่อไป

นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูกน้อยที่ได้รู้ว่าเขาสามารถทำอะไรกับ ข้าวของก็ได้ เมื่อเขาให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็เท่ากับว่าเขากำลังก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Thursday, August 27, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( การเล่นและพัฒนาการ )

Posted by wittybuzz at 10:21 AM 0 comments
“ถ้ากีดกันพวกเขาไม่ให้เล่น เด็กก็เป็นเหมือนนักโทษ เท่ากับเป็นการปิดกั้นเขาจากสิ่งที่จะทำให้เขาเข้าใจถึงชีวิตจริงๆ และความหมายของชีวิต การเล่นไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ทักษะในชีวิตประจำวันเท่านั้น แรงจูงใจที่จะให้เขามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพยายามทำจนสำเร็จใน ระหว่างที่เขาเล่นนั้น จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ…การเล่นเป็นอีกวิธี หนึ่งที่เด็กจะได้พัฒนาความสามารถในการจัดการกับความตึงเครียดในชีวิตที่พวก เขาเผชิญ นอกจากนี้ การเล่นยังเป็นเสมือนวาล์วความปลอดภัยทำให้เขารับมือกับความกลัวและความตื่น ตระหนกที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือเขาได้อีกด้วย” องค์กรเพื่อการศึกษาในเด็กวัยเยาว์ของโลก (World Organisation for Early Childhood Education: OMEP)

โดยธรรมชาติแล้ว เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเล่น แม้แต่เด็กที่ยากจนที่สุดและเด็กที่มีชีวิตอัตคัดที่สุดก็ล้วนแล้วแต่มีความ สุขเป็นที่สุดเมื่อได้เล่น การเล่นเป็นส่วนจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับการเติบโต โดยจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจโลก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ที่ได้เล่นสนุกเป็นเด็กที่มีความสุขกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่น

เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เด็กทุกคนมีบุคลิกของเขาเอง ยกตัวอย่างเช่น เด็กทุกคนจะแสดงออกและเล่นในแบบของตัวเอง และค้นหาความสามารถของตัวเขาเอง

เด็กๆ ต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่และต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการพัฒนา ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจนถึงขีดสุด พ่อแม่หรือผู้ให้การดูแลจะเป็นคนแรกๆ ที่เด็กจะต้องเกี่ยวข้องด้วย ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยเพื่อสร้าง ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและให้การกระตุ้นที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการของเขา คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้จักลูกของตัวเองมากขึ้นผ่านทางการเล่น การเล่นเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะไม่จำเป็นต้องสื่อสารกันด้วยคำพูด เมื่อเด็กโตขึ้น บุคคลอื่น เช่น เพื่อนๆ ครอบครัว และคุณครูก็จะมีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน

ประโยชน์ของการเล่น

การเล่นจะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ตัวเองและสิ่งแวดล้อมผ่านทางการซึมซับและ การฝึกใช้ทักษะ เมื่อเขาสร้างโลกของพวกเขาเอง เด็กๆ จะสามารถทดลองสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างอิสระและทำความเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่น การเล่นกับรถ เครื่องบินและเรือจะช่วยให้ลูกน้อยมีโอกาสได้เรียนรู้การคมนาคมทุกรูปแบบ เช่นเดียวกับเมื่อเขาออกไปเล่นข้างนอก เขาจะคุ้นเคยกับกฎจราจร อุบัติเหตุ การใช้ความเร็วและเขาอาจจะประหลาดใจกับสิ่งที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำหรือเขาอาจ จะจินตนาการว่าตัวเขาสามารถบินได้อย่างนก

นอกจากนี้ การเล่นยังช่วยให้เด็กๆ เข้าใจโลกตามระดับของการรับรู้ตามวัยของพวกเขา ลูกน้อยอาจแสดงออกให้เห็นถึงประสบการณ์บางอย่างที่เขาพบเจอมา ดังนั้น จึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของเขา

นอกจากนี้ เด็กยังสร้างความมั่นใจในตัวเองผ่านทางการเล่นอีกด้วย พวกเขาเรียนรู้ที่จะฝึกการควบคุมและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่น เด็กๆ จะได้ฝึกฝนบทบาทและพฤติกรรมทางสังคมในระหว่างที่เขาเล่น “พ่อแม่ลูก” “โรงพยาบาล” หรือ “โรงเรียน” นอกจากนี้ การเล่นยังช่วยให้เด็กได้แสดงออกความรู้สึกของตน เช่น ความวิตกกังวลและความกลัว สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้และผ่อนคลายความตึงเครียดได้ การเล่น “หมอกับพยาบาล” เป็นตัวอย่างที่ดี

ประเภทของการเล่น

ลูกน้อยจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม สติปัญญา และร่างกายผ่านระยะต่างๆ ตามวัยของเขา ดังนั้น ข้อกำหนดในการเล่นจึงแตกต่างกันไปตามอายุและระดับพัฒนาการของเด็ก การเล่นจะช่วยพัฒนาให้ลูกน้อยก้าวหน้าตามช่วงวัยของเขา

เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่ระยะต่างๆ เหล่านี้ เขาจะมีส่วนร่วมในการเล่นหลากหลายรูปแบบ

* การเล่นสำรวจเป็นการเล่นในระยะแรกเริ่มของลูกน้อยวัยแบเบาะหรือวัยหัดเดิน ลูกน้อยจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ลูกน้อยควรได้รับการกระตุ้นที่ถูกต้อง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมของเล่นที่เหมาะสมให้เขา เช่น โมบายเพื่อให้เขาจ้อง ของเล่นที่มีเสียงเพลงเพื่อให้เขาฟัง และของเล่นเอาไว้ให้เขากำ สัมผัส หรือดูด
* ลูกน้อยอาจจ้องดู ดูด สัมผัสและดมกลิ่นของเล่นเหล่านี้ ในกรณีเช่นนี้ เด็กจะกำลังพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ ของเขา เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเรียนรู้การควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตา โดยในช่วงแรกๆ เขาจะเคลื่อนไหวดวงตาตามสิ่งกระตุ้น และในเวลาต่อมา เขาจะเคลื่อนไหวดวงตาด้วยความตั้งใจของเขาเอง ลูกน้อยที่วัยกำลังโตจะไขว่คว้าหาของเล่นและเอื้อมไปจับข้าวของต่างๆ เด็กวัยหัดเดินจะเพลิดเพลินกับการเล่นกับของที่เคลื่อนไหวได้ อย่างเช่น ลูกบอลหรือรถ นอกจากนี้ เขายังชื่นชอบการเล่นเกมส์ที่มีการโต้ตอบ อย่างของเล่นจำพวกป๊อบ-อัพ รถหัดเดินที่มีของเล่นอยู่รายล้อมและมีเสียงดนตรี
* การเล่นแบบพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แสดงให้เห็นถึงสัญญาณแรกว่าเขาเริ่มรู้จัก วางแผนและใช้วัตถุและของเล่นต่างๆ อย่างมีสมาธิ เวลาที่เขาสร้างหอคอยสูงจากบล็อกตัวต่อ เขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับขนาดและรูปทรง ความสนุกอย่างแรกของเขาก็คือ พังหอคอยลง แล้วค่อยสร้างใหม่อีกครั้ง
* การเล่นที่ต้องใช้พละกำลัง เมื่อลูกน้อยเริ่มหัดคลานและหัดเดิน เขาจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เขาจะออกสำรวจพื้นที่ที่เขาอยู่ด้วยการเคลื่อนที่และสัมผัสกับทุกสิ่ง ทุกอย่างรอบตัว ในวัยนี้ คุณแม่แทบจะจับตาดูเจ้านักสำรวจตัวน้อยไม่ทันเลยทีเดียว นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ลูกน้อยวัยหัดเดินทำให้คุณแม่รู้สึกท้อและทำให้คิด ว่า เจ้าลูกคนนี้ซนจริงๆ เลย

สิ่งเจ้าตัวน้อยของคุณกำลังทำอยู่ในวัยนี้ก็คือการเรียนรู้และการสำรวจโลก ของเขาซึ่งใหญ่ขึ้น ทุกวันและทำให้เขาได้พบเจออะไรใหม่ๆ มากมาย นอกจากนี้ เด็กยังเรียนรู้ว่าเขาโตขึ้น และคิดว่าเขาสามารถทำทุกอย่างได้อีกด้วย การตั้งข้อจำกัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา เพื่อที่ว่าเขาจะได้เรียนรู้ข้อจำกัด ในขณะเดียวกันก็เพื่อความปลอดภัยในโลกใบใหญ่ของเขา ซึ่งบางครั้งก็อาจใหญ่เกินไปสำหรับเจ้าตัวน้อย เด็กวัยหัดเดินชอบที่จะใช้ทักษะการเคลื่อนไหวของตัวเอง แถมยังกระตือรือร้นมากด้วย การพาเขาไปสนามเด็กเล่น จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เคลื่อนไหวและสนุกสนานอย่างเต็มที่

* การเล่นเลียนแบบ คงน่ารักไม่น้อยที่ได้เห็นลูกน้อยเริ่มเลียนแบบท่าทางของผู้ดูแลและเรียนรู้ บทบาทหน้าที่ต่างๆ ในชีวิต ลูกน้อยจะติดตามคุณไปทุกที่และอยากทำอะไรก็ตามที่คุณกำลังทำอยู่ คุณแม่อาจจะเตรียมเหยือกและถ้วยสักสองสามใบไว้ในลิ้นชักหรือในตู้กับข้าวไว้ ให้ลูกน้อย เพื่อที่เขาจะได้ร่วมทำอาหารและล้างจานไปพร้อมๆ กับคุณแม่
* การเล่นสมมุติ เมื่อเด็กๆ มีพัฒนาการในการจินตนาการและสามารถแยกแยะโลกแห่งความจริงออกจากโลกใน จินตนาการได้แล้ว เขาก็จะเริ่มเล่นสมมุติ เก้าอี้จะกลายเป็นรถ เก้าอี้หลายตัวต่อกันเข้ากลายเป็นรถไฟและลูกน้อยก็จะสมมุติว่าตัวเขาเป็น พนักงานขับรถไฟกำลังเป่านกหวีดเมื่อ “รถไฟ” ออกจากสถานี ในการเล่นสมมุติ เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ต่างๆ และทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา เขามีอิสระที่จะสร้างสรรค์สถานการณ์ใหม่ๆ และเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นในการเล่นอย่างอิสระ
* การเล่นเข้าสังคม เมื่อเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนปฐม เพื่อนจะเข้ามามีส่วนสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ ก็คือเขาต้องเข้าร่วมกลุ่มสังคมของเขา อยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันและมีบทบาทในกลุ่มๆ นี้ เด็กๆ จะเรียนรู้ฐานะของตัวเองในสภาพแวดล้อมของเขาได้จากการลองผิดลองถูก การเข้าร่วมชมรมหรือกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ จะช่วยพัฒนาทักษะของพวกเขายิ่งขึ้นไปอีกและสร้างเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับ เพื่อนต่างกลุ่มที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันในบรรยากาศที่หลากหลายด้วย ดังนั้น เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ของแต่ละคนและการยอมรับทางสังคมด้วย
* การเล่นที่ใช้ทักษะ ระหว่างเรียนในโรงเรียนปฐม ลูกน้อยจะพัฒนาทักษะอันสมบูรณ์ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น งานฝีมือ เกมส์และกีฬาที่ต้องใช้ความคิด

ลูกน้อยจะพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไปอีก ทักษะเฉพาะทางเหล่านี้จะช่วยให้เขากำหนดบุคลิกภาพของตนเอง ทั้งส่วนที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อย

สรุป

การเล่นของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่เด็กๆ กระตุ้นพวกเขาด้วยให้เวลากับเขา หาสถานที่ให้และอยู่เป็นเพื่อนเขา สิ่งสำคัญก็คือ ควรทำตามความสนใจของเด็กและแนะนำการเล่นรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่เขาเพื่อให้เขาเติบโตโดยสอดคล้องพัฒนาการตามวัยของเขา

การเล่นเป็นเรื่องสนุกและช่วยให้เด็กค้นพบแนวทางของตัวเองในโลกกว้างใบนี้ การเล่นเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่คุณแม่จะได้แบ่งปันกับลูกน้อย

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Wednesday, August 26, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ความสำคัญของการเล่น ( การเล่นคืองานของหนู )

Posted by wittybuzz at 9:06 AM 0 comments
เวลาหลายชั่วโมงที่ทารกหรือเด็กๆ ใช้ไปกับการเล่นนั้นมิได้หมายความว่าเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์หรือ เป็นเพียงแค่ธรรมชาติของเขาที่ต้องเล่น การเล่นอาจเป็นเรื่องสนุก แต่ก็เป็นเรื่องจริงจังในวัยเด็ก ระหว่างเวลาที่เด็กเล่นอยู่นี้ เด็กจะเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เด็กที่ลืมตามาดูโลกใบนี้เปรียบได้กับฟองน้ำพิเศษก้อนหนึ่ง– ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษในการซึมซับ สำรวจและค้นหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา

การเล่นเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งของการสำรวจและการค้นพบซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ สำคัญที่สุดในการเล่นของเด็ก เขาจะหยุดเล่นก็เฉพาะตอนนอนหลับ ด้วยเหตุนี้ การเล่นจึงเป็นงานของหนู

เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่ต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาในที่ทำงาน เพื่อให้งานนั้นเสร็จลุล่วง เด็กเองก็เรียนรู้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จากการเล่นซึ่งเสริมสร้างทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับเขาในการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

การเล่นมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิทยา อารมณ์และภาษาของเด็ก

พัฒนาการทางร่างกาย

เมื่อเด็กเริ่มคลาน หัดตั้งไข่ เดินและวิ่ง นั่นแสดงว่าเขากำลังเคลื่อนไหวร่างกาย การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ร่างกายทำงานประสานกันอย่าง ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น สามารถใช้ทั้งสองมือน้อยๆ พร้อมกันได้ สามารถวิ่งได้ เป็นต้น ดังนั้น เด็กจึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวแขนและขาทั้งสองข้างให้ประสานกัน

จากช่วง 3 เดือนแรกที่เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก เขาจะสามารถเริ่มเคลื่อนไหวจากหัวไหล่จนถึงข้อศอกได้ อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มต้นนี้ การเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะมีแค่การแกว่งมือและการตีที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น เมื่อเขาเริ่มเล่นของเล่นชิ้นเล็กๆ และของเล่นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เขาก็จะเริ่มมีพัฒนาการในการใช้มือทั้งสองข้าง

นอกจากนี้ การเล่นยังพัฒนากล้ามเนื้อและความแข็งแรงของแขนขาทั้งส่วนบนและส่วนล่างอีกด้วย

พัฒนาการทางจิตใจ

ในการเล่นอย่างมีจินตนาการนั้น เด็กอาจสมมุติตัวเองเป็นพยาบาล หมอ หรือนักดับเพลิง นอกจากนี้ เขายังอาจสมมุติตัวเองว่าตัวเองกำลังทำอาหาร กำลังเย็บผ้าหรือจัดงานเลี้ยงน้ำชากับเพื่อนๆ ก็ได้ การเล่นอย่างมีจินตนาการเช่นนั้นจะช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดของเด็ก ซึ่งผลที่ได้ก็คือ การเล่นแบบนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเขาสำหรับสถานการณ์การเรียน รู้ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเขาโตขึ้น

พัฒนาการทางสังคม


ขณะที่เด็กๆ เล่นกัน พวกเขาจะพัฒนาความคิดเกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัวเขาไปพร้อมๆ กัน พวกเขาจะเรียนรู้ว่ามีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ต้องยึดถือ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม เช่น การเข้าคิวเพื่อเล่นกระดานเลื่อน การคบหาเพื่อนใหม่ การให้และการรับ การแบ่งปันหรือแม้แต่เพียงการผูกมิตรกับเด็กคนอื่น

แม้ว่าในเบื้องต้น ดูเหมือนว่าเด็กจะยังเห็นแก่ตัวและคิดถึงตัวเขาเองเป็นใหญ่ แต่อีกไม่นานเขาก็จะเรียนรู้ที่จะพัฒนาตามคำแนะนำจากผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งจากพ่อแม่

พัฒนาการทางจิตวิทยา


เด็กจะมีความมั่นใจและเคารพในตัวเองเมื่อเขาเล่นแล้ว เขาสนุกสนานและประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ ความมั่นใจนี้จะกระตุ้นให้เขามุ่งหน้าสำรวจต่อไปและผลักดันให้เด็กได้พบกับ ประสบการณ์ในกิจกรรมที่ท้าทายยิ่งขึ้น พัฒนาการด้านความมั่นใจจะช่วยให้เขาพบกับความท้าทายต่างๆ เมื่อเขาโตขึ้น การเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ของเขายิ่งขึ้นไปอีก

พัฒนาการทางอารมณ์


การคลุกคลีกับพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางอารมณ์ในระยะแรกของเด็ก ไม่มีอะไรที่จะมาแทนที่พัฒนาการในระยะนี้ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในระหว่างที่ลูกเล่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไป ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย เขาก็จะอยากออกไปสำรวจโลกกว้างด้วยความอุ่นใจว่ามีคนที่ไว้ใจได้ที่คอยช่วย เหลือเขาเสมอเมื่อยามเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น

พัฒนาการด้านภาษา


ภาษาคือสื่ออย่างหนึ่งที่เราถ่ายทอดความหมายออกมาจากความคิดและความรู้สึก ของเรา พัฒนาการด้านภาษาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เราเกิดมา ความพยายามเบื้องต้นที่เด็กสื่อสารออกมาจะอยู่ในรูปง่ายๆ และทำซ้ำๆ เมื่อเด็กโตขึ้น ความจำเป็นในการใช้ภาษาก็มากตามไปด้วย เด็กๆ ต้องใช้คำพูดและท่าทางในการแสดงออกถึงความคิดและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเมื่อ พวกเขาพบเจออะไรใหม่ๆ และแตกต่างไปจากเดิม ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นที่มีเอกลักษณ์และมีความพิเศษในตัว และภาษายังเป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ซึ่งมีความนึกคิดออกจากสัตว์ต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกัน

ความจำเป็นเบื้องต้นสำหรับพัฒนาการด้านภาษานั้นสามารถสร้างเสริมได้ผ่านการ เล่น คุณพ่อคุณมีโอกาสมากมายที่จะกระตุ้นพัฒนาการดังต่อไปนี้ผ่านทางการเล่น

* การสบตา
* ทักษะการฟัง
* การให้ความสนใจ
* การเรียนรู้ที่จะต่อแถวเข้าคิว
* ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

การติดป้ายบนสิ่งของจะช่วยได้มากเมื่อคุณพ่อคุณแม่แนะนำศัพท์ใหม่ๆ ให้กับเขา เพราะจะเป็นการเพิ่มจำนวนคำศัพท์ให้กับเขา นอกจากนี้ เด็กจะจดจำความหมายของคำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้นหากให้เขาจับต้องของชิ้นนั้น

การเรียนรู้แนวความคิดอื่นๆ

การเล่นยังช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจแนวคิดพื้นฐานอื่นๆ เช่น ตัวเลข สี และตำแหน่ง (ซ้าย/ขวา และ เข้า/ออก)

การพัฒนาแนวความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากจะช่วยสอนสิ่งต่อไปนี้

* ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุว่าของชิ้นหนึ่งเกี่ยวข้องกับของอีกชิ้นหนึ่งอย่าง ไร ยกตัวอย่างเช่น หม้อกับเตาไฟ ช้อนกับส้อม และลูกบอลกับไม้ตี
* ปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น น้ำที่กำลังเดือดร้อน น้ำแข็งเย็น ผ้านิ่ม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเขาควรคิดและกระทำเช่นไร เป็นต้นว่า ถ้าเด็กไม่ชอบความรู้สึกร้อน เขาอาจไม่อยากถือกาต้มน้ำ เป็นต้น ซึ่งพัฒนาการด้านนี้ทำให้เขารู้มากขึ้นว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้างและจะเป็น การสอนเขาว่าเขาสามารถทำแบบนั้นซ้ำอีกได้

การเข้าใจถึงเหตุและผล เช่น “ถ้าหนูจับน้ำเดือดๆ หนูจะโดนลวก” ซึ่งหลักเหตุผลนี้จะเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหา เมื่อเขาได้แก้ปัญหา ได้สัมผัสประสบการณ์ต่างๆและได้เรียนรู้ธรรมชาติของสิ่งต่างๆ แล้ว เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Tuesday, August 25, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( การแข่งขันระหว่างพี่น้อง )

Posted by wittybuzz at 8:10 AM 0 comments
การแข่งขันระหว่างพี่น้องเป็นเรื่องของการเอา ชนะ ช่องว่างระหว่างวัยและเพศจะมีต่อความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างพี่น้อง โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าการอิจฉาและการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในพี่ น้องที่มีอายุห่างกันหนึ่งถึงสามปี ความรุนแรงนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นพี่น้องเพศเดียวกัน

การแข่งขันระหว่างพี่น้องยังเกี่ยวข้องกับการให้ได้มาซึ่งอำนาจ ตามคำกล่าวของดร. อัลเบิร์ต แอดเลอร์ นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎของ Sigmund Freud ที่ว่า “การโต้เถียงกันของเด็กนั้น แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการแสวงหาอำนาจของจิตใต้สำนึก” ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและเลี้ยงดูน้องตัวน้อยๆ เขาจะพัฒนาความคิดในแง่บวกและจะเรียนรู้อย่างช้าๆ ในเรื่องการแข่งขันกับพี่น้องของเขาซึ่งมา “แย่งชิง” ความรักและการเอาใจใส่จากพ่อแม่ไป

การเตรียมลูกน้อยให้พร้อมต้อนรับน้องที่จะเกิดใหม่

สำหรับเด็กวัยหัดเดินหรือเด็กก่อนวัยเรียนที่ยังเล็กๆ อยู่ คุณแม่ควรบอกลูกว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์เฉพาะในช่วงสองถึงสามเดือนสุดท้าย เมื่อท้องของคุณแม่เริ่มโตขึ้นและลูกสังเกตเห็นว่าคุณแม่เหนื่อยง่ายกว่า ปกติ

ย้ำกับลูกคนโตว่า เมื่อมีน้องใหม่ สถานะของเขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงและคุณจะยังคงรักเขามากเช่นเดิมตลอดไป

บอกให้ลูกรู้ความจริงที่ว่าเด็กเล็กๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย จำเป็นต้องได้รับการดูแลและอาจจะร้องไห้เยอะมาก พี่ไม่ควรคาดหวังว่าน้องจะเล่นกับเขาได้จนกว่าจะสองสามปีให้หลัง

เตรียมความพร้อมให้กับลูกเวลาที่คุณแม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดน้อง ซึ่งเขาต้องแยกจากคุณแม่ชั่วคราว

ให้พี่มีส่วนร่วมโดยให้เขามีหน้าที่โทรไปคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายว่าน้องคลอดแล้ว แต่อย่าให้ความสำคัญกับน้องใหม่จนออกหน้าออกตา เพราะจะทำให้พี่สูญเสียความเชื่อมั่นในสถานะของเขาในครอบครัว

สำหรับพี่ที่อยู่ในวัยเข้าเรียน คุณแม่อาจพบว่าเขามีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดูแลน้อง การพาน้องใหม่เข้าบ้านยังทำให้เขามีโอกาสได้แสดงบทบาทเป็นพี่ที่โตแล้วอีก ด้วย

ควรเตรียมพร้อมรับความไม่พอใจของพี่คนโต เด็กที่ยังเล็กๆ อาจมีแสดงความอิจฉาอย่างเปิดเผยและอย่างโจ่งแจ้ง หากคุณแม่พบว่าลูกไม่พอใจและอิจฉาน้อง คุณแม่ต้องปล่อยให้ลูกคนโตระบายความหวาดกลัวและความรู้สึกของเขาให้ฟัง แต่จะต้องย้ำกฎอย่างหนึ่งให้เขาฟังว่า ห้ามใช้ความรุนแรงภายในบ้านไม่ว่าเวลาใดก็ตาม

ไม่ควรปล่อยให้เด็กวัยหัดเดินที่ยังเล็กๆ หรือเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ตามลำพังกับน้องจนกว่าเขาจะสานความสัมพันธ์กับน้อง แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

การแข่งขันระหว่างพี่น้องเป็นเรื่องปกติที่สุด การทะเลาะกันระหว่างพี่น้องเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวขั้นพื้นฐานที่สุด ในฐานะที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ จึงไม่จำเป็นต้องห้ามการแข่งขันระหว่างพี่น้อง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้เป็นการแข่งขันที่สร้างสรรค์ได้หากมีการจัดการ ที่ดี

การจัดการเรื่องการแข่งขันระหว่างพี่น้องในเด็กโต

เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่

* คุณแม่ไม่ต้องอารมณ์เสียหรือเหนื่อยหน่ายถ้าลูกๆ มักทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา การแข่งขันกันระหว่างพี่น้องคือกระบวนการทางธรรมชาติของการเจริญเติบโตและ เป็นเรื่องดีสำหรับลูกที่จะทะเลาะกัน แล้วก็คืนดีกัน แล้วก็ทะเลาะกันใหม่
* คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าแทรกแซงเฉพาะเวลาที่ลูกใช้กำลังกันในระหว่างที่ทะเลาะ กันเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม พวกเขาเรียนรู้การมีความมั่นใจและการพึ่งพาตัวเองถ้าเขาได้ต่อสู้ด้วยตัวเอง และสะสางปัญหาเอง นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ได้อยู่กับเขาไปชั่วชีวิต
* อย่าพยายามเป็นผู้พิพากษาหรือผู้ตัดสิน การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด คุณพ่อคุณแม่จะถูกกล่าวหาว่าลำเอียงเสมอ หากคุณต้องตัดสินใจ ให้รับฟังทั้งสองฝ่ายก่อน และต้องยุติธรรมและมั่นคง คำตัดสินควรกระชับได้ใจความ
* จะต้องบังคับใช้กฎ “ห้ามใช้ความรุนแรง” อย่างเข้มงวดและอย่างรวดเร็ว ซึ่งเด็กๆ ทุกคนภายในบ้านจะต้องปฏิบัติตามตลอดเวลา
* การแบ่งประเภทไม่ว่าจะเป็นในแง่บวกหรือลบจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันที่เกินความ จำเป็นสำหรับเด็กๆ เช่นเดียวกับการที่อย่าผลักดันความฝันที่คุณพ่อคุณแม่ทำไม่สำเร็จให้กับลูก เด็กๆ ควรได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาตามพรสวรรค์และศักยภาพของเขาเอง
* อย่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่หลงลืมและเปรียบเทียบระหว่างลูกของตัวเองกับเด็กคน อื่น ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนบ้าน และลูกพี่ลูกน้อง การเปรียบเทียบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบในแง่ลบจะทำให้การแข่งขันระหว่างพี่น้อง ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
* คาดการณ์จุดที่จะก่อให้เกิดปัญหาและตรวจหา “สัญญาณบ่งบอกอันตราย” ตั้งแต่เนิ่นๆ
* แยกลูกออกจากกันเมื่อเขาใช้กำลังกัน ในบางครั้งคุณแม่อาจจำเป็นต้องปกป้องพี่มากกว่าน้อง และมีบ่อยครั้งที่พี่มักถูกคาดหวังว่าต้องยอมแพ้ให้น้อง โดยไม่คำนึงว่าพี่คนโตก็มีความต้องการของเขาเองเหมือนกัน
* พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกและใช้วิธีให้รางวัล พฤติกรรมที่ดีควรได้รับการส่งเสริมและชื่นชม แต่เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณแม่ก็ไม่ควรลังเลใจที่จะยึดรางวัลนั้นคืน
* ควรหาพื้นที่ส่วนตัวให้ลูกแต่ละคนซึ่งเป็นที่ที่เขาจะได้อยู่ตามลำพังและ เป็นที่เก็บของเล่น หนังสือ เป็นต้น และควรให้ลูกคนอื่นๆ เคารพพื้นที่ส่วนตัวของพี่น้องแต่ละคนด้วย

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Monday, August 24, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( เด็กวัยหัดเดินกับระเบียบวินัยและแนวทาง )

Posted by wittybuzz at 10:58 AM 0 comments
การฝึกระเบียบวินัยไม่จำเป็นต้องความหมายแฝงใน แง่ลบ ไม่ควรเป็นคำพูดที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษ การฝึกระเบียบวินัยสำหรับเด็กวัยแบเบาะและเด็กวัยหัดเดินเป็นเรื่องของการ ตั้งแนวทางการใช้ชีวิตให้กับเขาอย่างชัดเจนและเป็นไปในเชิงบวกและเขาว่า พฤติกรรมใดยอมรับได้และพฤติกรรมใดยอมรับไม่ได้ การฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กวัยหัดเดินโดยใช้การลงโทษ ถือว่าไม่ใช่วิธีที่ดี แต่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่ามากและจะช่วยพัฒนาความ เชื่อมั่นในตัวเองของเด็กวัยหัดเดินด้วย

ต่อไปนี้เป็นกุญแจสำคัญที่คุณแม่ควรจำ

* คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากันก่อนว่าจะใช้วิธีใด สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรใช้รูปแบบเดียวกัน
* ลูกของคุณจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าขอบเขตของเขามีอะไรบ้าง ควรให้โอกาสเขาได้ค้นหาด้วยตัวเองและอย่าคาดหวังมากจนเกินไปสำหรับเด็กในวัย เขา
* อธิบายว่าคุณแม่คาดหวังอะไรจากเขาและเตรียมพร้อมเพื่อเตือนความจำของเขา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณแม่พาลูกไปหากลุ่มเพื่อนเล่นของลูกในแต่ละอาทิตย์ ให้เตือนลูกวัยหัดเดินว่า “เราจะไม่ผลักหรือตีเพื่อนๆ ในกลุ่มนะจ๊ะ”
* ควรเตรียมพร้อมสำหรับการประนีประนอมในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเคารพความคิดเห็นของเขา
* คุณแม่ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับลูกในทุกเรื่อง ซึ่งหมายความว่าควรเลือกเฉพาะเรื่องที่สำคัญจริงๆ ในชีวิต และคุณแม่ควรยืนกรานในเรื่องที่สำคัญนั้น
* เมื่อคุณพูดว่าคุณจะทำอะไรก็ตามซึ่งเป็นระเบียบวินัย คุณก็ต้องทำตามที่พูด ยกตัวอย่างเช่น หากลูกวัยหัดเดินทำตัวไม่เหมาะสมที่สวนสาธารณะและคุณได้บอกกับเขาว่าคุณจะพา เขากลับบ้านถ้าหากเขาทำแบบนั้นอีกครั้ง คุณก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะออกจากสวนสาธารณะตามที่พูดไว้
* ควรใช้กฎข้อบังคับอย่างสม่ำเสมอ เด็กวัยหัดเดินจำเป็นต้องรู้จุดยืนของเขาเองเพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์
* คุณแม่สามารถสอนให้ลูกวัยหัดเดินเรียนรู้เรื่องผลที่จะตามมาจากการกระทำของ เขาได้ตั้งแต่ที่เขายังเล็กๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเขาเทบล็อกตัวต่อลงบนพื้น เขาก็ต้องช่วยเก็บให้เรียบร้อย
* สิ่งสำคัญที่สุด การสนับสนุนพฤติกรรม ‘ที่เหมาะสม’ ในเชิงบวกเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีกว่าการใช้คำพูดในแง่ลบ ดังนั้น ขอให้คุณแม่ชมเชยเขาเยอะๆ แล้วคุณแม่จะได้เห็นผลอันน่าเหลือเชื่อ

หากคุณแม่รู้สึกว่ากำลังมีปัญหากับการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนให้กับลูกวัยหัด เดิน คุณแม่ควรไปปรึกษากับพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือและการแนะนำ

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Sunday, August 23, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( เด็กวัยหัดเดินกับการงอแง )

Posted by wittybuzz at 6:25 AM 0 comments
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการงอแงของเด็ก

ไม่มีเด็กคนไหนที่หรอกที่จะอารมณ์แปรปรวนจากที่อยู่นิ่งๆ ไปอาละวาดในทันทีทันใด ถ้าคุณมีลูกอยู่ในวัยหัดเดินละก็ คุณก็จะรู้ดีว่าเจ้าหนูวัยสองขวบตัวร้ายงอแงเก่งแค่ไหน การงอแงเป็นผลมาจากการที่เด็กวัยหัดเดินมีความสามารถจำกัดในการรับมือกับ ความหงุดหงิด ข่าวดีก็คือมีขั้นตอนที่คุณแม่สามารถนำไปใช้เพื่อป้องกันการระเบิดอารมณ์ของ เด็กและมีวิธีที่สามารถรับมือกับการงอแงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. อะไรคือสาเหตุของการงอแง

การงอแงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเด็กวัยหัดเดินจงใจหรือเจตนาไม่เชื่อฟัง หรือเป็นเพราะลูกดื้อรั้นมากๆ เด็กวัยหัดเดินงอแง เพราะว่าเขายังไม่รู้จักที่จะยอมรับความหงุดหงิด เมื่อเขาอยากทำอะไรบางอย่าง แต่ทำไม่ได้ เขาจะรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกหมดหนทางและความไม่พึงพอใจ การงอแงเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นออกมาและ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยหัดเดินทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กวัย 2 ขวบมักจะร้องไห้งอแงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งอาจกินเวลาตั้งแต่ 15 ถึง 30 นาที

2. การป้องกันการงอแง

มีขั้นตอนบางอย่างที่คุณแม่สามารถนำไปใช้เพื่อลดการงอแงได้ และต่อไปนี้เป็นคือเทคนิคบางอย่างที่อาจช่วยยับยั้งการงอแงครั้งต่อไปของลูก ได้

* จำกัดการเล่นของเล่นและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งน่าดึงดูดใจสำหรับลูกวัยหัดเดินของคุณ แต่มันยากเกินไปสำหรับช่วงวัยของเขา
* สังเกตอาการอ่อนล้าและควรให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ
* คอยสังเกตสัญญาณบ่งบอกที่ว่าลูกได้รับการกระตุ้นมากเกินไปและเมื่อเวลาที่ เขาได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ควรเปลี่ยนให้ลูกไปทำกิจกรรมที่นิ่งเงียบมากกว่า
* พยายามพูดคำว่า “ไม่” และ “อย่า” ให้น้อยที่สุด แทนที่จะพูดคำว่า “ไม่” คุณแม่ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจและให้ตัวเลือกอื่นกับเขา ยกตัวอย่างเช่น สอนให้เขาดมกลิ่นดอกไม้แทนที่จะเด็ดมัน

3. การเผชิญหน้ากับการงอแง

การงอแงจะสิ้นสุดลงเร็วขึ้นหากคุณแม่แค่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในขณะที่เขากำลังงอแง ลูกวัยหัดเดินของคุณจำเป็นต้องอาศัยการควบคุมอารมณ์อันสงบของคุณแม่เพื่อให้ เขารู้สึกปลอดภัย ดังนั้น จึงควรพยายามระลึกไว้อยู่เสมอว่าการงอแงของเด็กนั้น มีจุดประสงค์ การงอแงของเด็กเป็นการปลดปล่อยความขุ่นเคืองใจที่เกิดจากอารมณ์หงุดหงิด ไม่ใช่ว่าเขามีเจตนาร้าย

ในบางครั้งก็ต้องปล่อยให้เด็กวัยหัดเดินได้อยู่เพียงลำพังเพื่อสงบสติอารมณ์ แต่จะต้องไม่อยู่นอกสายตา และเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในบางครั้ง เพียงแค่โอบกอดลูกน้อยที่กำลังอารมณ์เสียอย่างนุ่มนวลและแสดงถึงความรัก ก็ช่วยให้เขาสงบลงได้ หากเขาเกิดงอแงในที่สาธารณะ ทางที่ดีก็คือควรพาลูกวัยหัดเดินไปยังบริเวณที่เงียบๆ และค่อนข้างเป็นส่วนตัวจนกว่าเขาจะอารมณ์เย็นลง

4. ใจเย็นเข้าไว้คุณแม่


หนึ่งในความท้าทายที่ถือได้ว่าเป็นงานที่ยากที่สุดก็คือ การพยายามทำตัวให้สงบนิ่งทั้งๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าตัวเล็กที่กำลังโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่โกรธตอบกลับไป ก็จะมีแต่ทำให้ลูกยิ่งงอแงนักขึ้น

เมื่อลูกวัยหัดเดินหยุดงอแงแล้ว ควรสร้างความมั่นใจและชมเชยเขาที่เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ พยายามลืมภาพตอนที่อารมณ์เสียทิ้งไปและหาคำพูดที่สร้างกำลังใจมาพูดให้เขา ฟัง ยิ่งคุณแม่มั่นคงและคิดในเชิงบวกมากเท่าไหร่ในระหว่างและหลังจากที่ลูกงอแง เขาก็ยิ่งควบคุมการระเบิดอารมณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Saturday, August 22, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( เด็กวัยหัดเดินกับทักษะทางสังคม )

Posted by wittybuzz at 5:18 AM 0 comments
ทำความเข้าใจว่าเด็กวัยหัดเดินไม่ได้มีทักษะทางสังคมที่สมบูรณ์แบบมากนัก

เด็กวัยหัดเดินเป็นที่ดึงดูดใจของเด็กที่มีอายุและและขนาดตัวไล่เลี่ยกัน การเล่นกับเด็กคนอื่นเป็นประจำจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ซึ่งแสดงถึงความรัก ใคร่ซึ่งจะอยู่ติดตัวเขาไปนานแสนนาน

แน่นอนว่าเด็กวัยหัดเดินเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ทักษะทางสังคม เด็กอายุ 18 เดือนคงไม่เข้าใจทัศนคติของคนอื่นได้ดีนัก และจะใช้เวลาหลายปีกว่าที่พวกเขาจะสามารถแบ่งของเล่นร่วมกับคนอื่นได้ รู้จักยุติข้อขัดแย้งและเคารพความต้องการและสิทธิของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อเด็กวัยหัดเดินหลายๆ คนอยู่ด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่คาดหวังได้ว่าพฤติกรรมทางสังคมของเด็กวัยหัดเดินจะปรากฏให้เห็น

1. การเริ่มต้นของเด็กวัยหัดเดิน
เด็กวัยหัดเดินมักจะแค่ยืนดูเด็กคนอื่นๆ เล่น วิธีที่ดีที่สุดก็คืออย่ากดดันให้เขาออกไปเล่น การเฝ้ามองเป็นวิธีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของเด็ก
2. การเล่นที่เหมือนกัน
เด็กวัยหัดเดินที่ยังเล็กๆ มักจะเล่นอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่ใกล้ๆ กัน ถึงแม้ว่าเขาจะดูเหมือนว่าเล่นอยู่คนเดียว แต่เขาก็อาจรับรู้ได้ดีว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย บ่อยครั้งที่เขามักลอกเลียนแบบกัน และบางทีเขาอาจมีความรู้สึกถึงความเป็นเพื่อนซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเล่น ร่วมกันในภายหลัง
3. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เมื่อเด็กคนหนึ่งเจ็บ เด็กคนอื่นๆ อาจร้องไห้ด้วยความสงสาร เพื่อนคนหนึ่งจะเรียกเพื่อนทั้งกลุ่มมามุงดูเพื่อนที่หัวเขาถลอกและทุกคน ต่างร้องไห้ไปด้วยกัน และคุณพ่อท่านหนึ่งบอกกับเราว่าประโยคแรกที่ลูกสาวของเขาพูดได้คือ “โจอี้ร้องไห้” ซึ่งเธอพูดเมื่อเพื่อนเล่นวัยหัดเดินของเธอตื่นจากนอนกลางวัน
4. การจิ้ม การผลัก และการตี
เด็กวัยหัดเดินมักไม่เข้าใจว่าการกระทำของเขาอาจทำให้คนอื่นเจ็บได้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำเหมือนกับว่าเด็กวัยหัดเดินคนอื่นๆ เป็นสิ่งของ เมื่อเขาจิ้มหรือตีเพื่อน ผู้ใหญ่ต้องบอกเขาอย่างนุ่มนวลให้หยุดทำพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นทันที และจากนั้นจึงเปลี่ยนให้เด็กเล่นอะไรที่เป็นมิตรกันมากขึ้น
5. การแย่งของเล่น
เด็กวัยหัดเดินยังไม่รู้จักการแบ่งปันอย่างแท้จริง เมื่อเขาเห็นของเล่นวางอยู่บนชั้น เด็กวัยหัดเดินจะปีนขึ้นไปหยิบมันลงมา เมื่อเขาเห็นของเล่นอยู่ในมือของเด็กคนอื่น เขาก็จะทำแบบเดียวกัน เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักการเห็นแก่ตัวหรือละโมบ เขาก็เป็นแค่เด็กวัยหัดเดินตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เด็กวัยหัดเดินควรได้รับการสอนว่าอย่าแย่งของเล่นที่คนอื่นกำลังเล่นอยู่ คุณแม่อาจนำของเล่นที่ลูกแย่งมาไปคืนให้เจ้าของ และบอกกับลูกว่า “เมื่อซาร่าเล่นรถบรรทุกเสร็จแล้ว ลูกค่อยเล่นต่อนะจ๊ะ” เมื่อเด็กคนแรกเล่นเสร็จแล้ว คุณแม่ก็อย่าลืมให้โอกาสเด็กคนที่สองได้เล่นต่อด้วย เมื่อเด็กวัยหัดเดินมีเพื่อนๆ มาเยี่ยม คุณแม่อาจต้องแจกของเล่นแบบเดียวกันให้ทุกคน เพราะการแบ่งปันถือเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กวัยนี้


เหนือสิ่งอื่นใดคือควรมีความอดทนต่อเพื่อนวัยหัดเดินและสังเกตถึงการแสดง ความรักใคร และความขัดแย้งในการเล่นของพวกเขา หากคุณเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงบวก สิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงลบจะดูเหมือนว่ามีความสำคัญที่น้อยกว่า อาจต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคม แต่คุณสามารถมอบการเริ่มต้นที่ดีให้กับลูกวัยหัดเดินของคุณได้ในตอนนี้

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Friday, August 21, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( การจัดการเมื่อเจ้าตัวน้อยโกรธ )

Posted by wittybuzz at 5:14 AM 1 comments
ลูกของคุณมักมีอารมณ์แปรปรวนราวกับพายุหรือ เปล่า หรือว่าอารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงง่ายราวกับสายลมไหม คุณกลัวหรือไม่ที่เขาโกรธหรือหงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกินกว่าระดับที่เหมาะสมหรือระดับปกติ

คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจได้ ความโกรธเป็นอารมณ์ปกติที่เด็กเล็กทุกคนต้องเคยรู้สึก แม้ว่าความโกรธจะทำให้คนที่ตกเป็นเป้าหมายเกิดความเครียดได้อย่างมาก เช่น คุณพ่อคุณแม่และพี่น้อง แต่อันที่จริงแล้ว การโกรธมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของมนุษย์ ตามคำกล่าวของดร. เวอร์จิเนีย ชิลเลอร์ PhD นักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องและผู้เขียนหนังสือเรื่อง Rewards for Kids! Ready-to-Use Charts & Activities for Positive Parenting

“อารมณ์โกรธสามารถผลักดันให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นและพยายามให้ความต้องการ ของตนเองได้รับการตอบสนอง และเมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์โกรธจะแปรเปลี่ยนไปเป็นการทะเลาะเบาะแว้งในเรื่องที่สำคัญต่อครอบครัว เพื่อน และชุมชน ในระยะยาว ถ้าหากเราไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ เราก็อาจจะไม่สามารถยกระดับความรับผิดชอบและอิทธิพลของเราให้สูงขึ้นได้” ดร. เวอร์จิเนียกล่าว

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในการที่จะเปลี่ยนให้อารมณ์โกรธกลายเป็นแรงผลักดันในเชิงบวกนั้น เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์โกรธในรูปแบบที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเข้าสังคมนี้ “คุณพ่อคุณแม่เป็นได้ทั้งต้นแบบที่ดีและสามารถสอนลูกถึงการแสดงอารมณ์โกรธ อย่างเหมาะสม และสามารถขัดจังหวะเวลาเด็กแสดงอารมณ์โกรธอย่างเป็นฟืนเป็นไฟ โดยใช้วิธีอย่างสร้างสรรค์ได้” ดร. เวอร์จิเนียอธิบาย

ช่วงเวลาที่สามารถสั่งสอนเขาได้

คุณพ่อคุณแม่มักมีโอกาสขัดจังหวะเวลาที่ลูกแสดงอารมณ์โกรธ ดร. เวอร์จิเนียกล่าวว่าหากลูกทะเลาะกับพี่น้องหรือเพื่อนเรื่องของเล่น และผลักหรือตีคนอื่นเพื่อให้ได้ของเล่นนั้นมา คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงลบนี้ให้เป็นประสบการณ์เรียน รู้ในเชิงบวกได้ โดยสอนลูกถึงวิธีการที่ดีกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เช่น การผลัดกันเล่นและรู้จักแบ่งปัน คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำแนวทางให้ลูกจัดการกับอารมณ์โกรธในวิธีที่สร้าง สรรค์ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจแสดงบทบาทเป็นเพื่อนเล่นของเขาและฝึกหัดลูกด้วยการร้องแบ่ง ของเล่นจากเขา

หากลูกๆ เกิดทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ก่อนที่เรื่องจะลุกลามใหญ่ โต “อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเขาถึงไม่ควรจิ้มนิ้วตาน้อง ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ดึงตัวน้องออกมา พยายามอย่าโกรธลูก เพื่อว่าทั้งคุณแม่และลูกจะได้สามารถแยกแยะระหว่างอารมณ์และการกระทำได้ และควรแนะนำวิธีอื่นๆ สำหรับจัดการกับสถานการณ์ที่ทำให้ลูกโกรธ” กล่าวโดยเดบาร่า กิลเบิร์ต โรเซนเบิร์ก นักสังคมสงเคราะห์ในคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง นักจิตบำบัด และผู้เขียนเรื่อง The New Mom's Companion: Care for Yourself While You Care for Your Newborn

ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการยับยั้งการแสดงพฤติกรรมที่รับไม่ได้ เช่น ความรุนแรงและความเกรี้ยวกราด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ควรห้ามไม่ให้ลูกรู้สึกโกรธเลย นอกจากนั้น การที่ลูกแสดงอารมณ์โกรธออกมายังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ถึงอารมณ์ในด้าน ลบของลูก และคุณพ่อคุณแม่จะได้พูดให้ลูกฟังว่าอารมณ์ที่ลูกกำลังรู้สึกอยู่นั้นคือ อะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขายังพูดไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่อาจพูดว่า “ลูกโกรธมากเลยที่โจอี้เอาของเล่นไปจากหนู” จากนั้นจึงตามด้วยการให้คำแนะนำว่าเขาสามารถทำอะไรได้ในตอนนี้ เช่น “ไปหาของเล่นอื่นมาเล่นกันดีกว่านะจ๊ะ”

“คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกวัยหัดเดินรู้อยู่แล้วว่าถ้าพูดว่า 'ลองเล่าให้แม่ฟังซิจ๊ะ' กับเด็กที่กำลังโกรธอยู่ จะเป็นการกระตุ้นให้เขาระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดแทนที่จะหันไปใช้กำลัง ” เดบาร่ากล่าว

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังอาจคิดแผนสร้างแรงจูงใจ โดยให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับลูกเวลาที่เขาผลัดกันเล่นหรือแบ่งกันเล่นแทนที่จะชกต่อยหรือแย่งชิงกัน ดร. เวอร์จิเนียกล่าวเพิ่ม ในระยะยาว วิธีนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กพยายามผลัดกันเล่นของเล่นมากขึ้น

หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกระเบิดอารมณ์โกรธออกมาจนเกินการควบคุม โกรธอย่างต่อเนื่อง อย่างรุนแรง และ/หรืออาจเป็นอันตรายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะดีที่สุด เดบาร่ากล่าว “คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกอุ่นใจเมื่อรู้ว่าลูกของตัวเองปกติสมบูรณ์ดี แต่คุณพ่อคุณแม่ยังอาจค้นพบด้วยว่าการให้ความสนับสนุนและการชี้นำแก่ลูกก็ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวเช่นเดียวกัน“

การค้นหาวิธีแก้ปัญหา


คริสติน ดามิโก ครูฝึกสอนส่วนตัวและผู้เขียนเรื่อง The Pregnant Woman's Companion กล่าวว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์แก่เด็กเพื่อ จัดการกับความโกรธได้โดยอย่าทำให้เขาอับอายหรืออย่าบอกเขาว่าความโกรธเป็น เรื่องที่ผิด เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงวิธีการจดจำว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาโกรธและจาก นั้นจึงตอบสนองในเชิงสร้างสรรค์

คริสตินกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพยายามอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังในขณะที่เขากำลังโกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ “ควรปล่อยให้เขาอารมณ์เย็นลงก่อน และปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจเขาในเวลาที่เขากำลังโกรธ คุณแม่อาจพาเขาเข้าห้องเพื่อสงบสติอารมณ์ หรือคุณแม่อาจนั่งกับเขาในขณะที่เขาระบายความโกรธออกมา” เธออธิบาย เมื่อลูกอารมณ์เย็นลงแล้ว คริสตินแนะนำให้คุณแม่คุยกับลูกว่าอะไรที่ทำให้เขาโกรธ ช่วยให้เขามองสถานการณ์อย่างรอบด้าน พยายามคิดหาทางเลือกใหม่ๆ ด้วยกัน ซึ่งทางเลือกนี้ต้องสนองความต้องการของทุกคนที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น เธอกล่าวว่าคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถพูดคุยกับลูกถึงวิธีการแสดงอารมณ์โกรธที่ เหมาะสมได้ด้วย บอกกับเขาว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเลยและการทำพฤติกรรมอย่างนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติ ตัวเองและผู้อื่น

การอ่านหนังสือที่มีตัวละครที่ต้องจัดการกับอารมณ์โกรธ ก็สามารถช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเขาไม่ได้รู้สึกแบบนี้คนเดียว ได้ หนังสือเรื่อง When I Wished I Was Alone ซึ่งเขียนและวาดภาพประกอบโดยเดฟ คัตเลอร์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดี หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่โกรธมาก และเนื้อเรื่องจะพูดถึงว่าความโกรธเป็นยังไงและจะระงับอารมณ์โกรธได้ยังไง คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดถึงอารมณ์โกรธ กับลูกน้อยก็ได้

การควบคุมของคุณพ่อคุณแม่


คุณพ่อคุณแม่มักเป็นต้นแบบในเรื่องวิธีจัดการกับความโกรธให้เด็กเห็นอยู่ เสมอ ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนมากจะไม่รู้ตัวก็ตาม “หากคุณพ่อคุณแม่ตะโกนใส่กัน ด่าว่ากัน ตะโกนใส่ลูกๆ และระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือขว้างปาของใส่กัน ลูกๆ ก็จะเรียนรู้ว่าการระเบิดอารมณ์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเป็นวิธีที่ยอมรับได้ในการ จัดการกับอารมณ์โกรธเดบาร่ากล่าว

เธอแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เพื่อจัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเอง ได้ และในบางโอกาสควรปล่อยให้เด็กๆ ได้เห็นวิธีการแสดงอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสม (ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้เด็กเห็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันบ่อยนัก) หากลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่แสดงอารมณ์โกรธโดยไม่ต้องด่าทอกันหรือใช้ความรุนแรง เขาก็เรียนรู้ที่จะทำแบบเดียวกันนี้

“คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญ” คริสตินกล่าว “คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้ว่าการแสดงความโกรธหรือความหงุดหงิดแบบไหน ใช้ได้และแบบไหนใช้ไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเรื่องนี้ให้ลูกได้ด้วยการพูดให้เขาฟัง รวมถึงวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกเวลาที่โกรธด้วย” เธอยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เราเป็นต้นแบบให้เด็กเห็นว่าการโกรธเป็นอย่างไรและจะตอบสนองต่อความโกรธ อย่างไร ลูกของเรามักลอกเลียนแบบการแสดงออกเขาเราไปใช้ในพฤติกรรมการแสดงความโกรธของ เขาเอง”

“เราแทบจะไม่เห็นเด็กที่มีอารมณ์โกรธถึงขนาดที่ควบคุมไม่ได้ในครอบครัวที่ จัดการกับความโกรธในวิธีที่สร้างสรรค์และไม่ทำร้ายจิตใจกัน” เดบาร่ากล่าวสรุปว่า “คุณพ่อคุณแม่สามารถแสดงให้ลูกได้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเราจะรักใครบางคน แต่เราก็อาจไม่เห็นด้วยกับเขาหรือโกรธเขาในแบบที่น่ารักๆ ก็ได้ ซึ่งจะเป็นบทเรียนที่ประมาณค่ามิได้สำหรับเด็ก”

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Thursday, August 20, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อย )

Posted by wittybuzz at 3:39 AM 0 comments
บางทีงานที่ท้าทายมากที่สุดอย่างหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ทุกท่านต้องพบเจอก็คือ การเลี้ยงดูลูก ในทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากต้องทำงาน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องรักษาความสมดุลระหว่างการทำงานและความจำเป็นที่จะ ต้องเลี้ยงดูลูก

“ทำไมลูกวัย 2 ขวบของฉันถึงไม่ทำตัวเหมือนลูกของเพื่อนบ้านที่ว่านอนสอนง่ายมากๆ” คำตอบก็คือเด็กทุกคนมีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างกัน

เมื่อลูกทำตัวเกเร เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงเจตนาและสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นของเขา

เราควรพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กจากความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับ ผู้รับพฤติกรรมนั้น การแสดงพฤติกรรมจะไม่เป็นปัญหาหากไม่มีคนคอยสังเกตการณ์/ผู้รับพฤติกรรมนั้น เด็กที่ร้องบ้านแทบแตกดูจะถือว่าไม่มีปัญหาทางพฤติกรรมจนกระทั่งเมื่อมีใคร บางคนต้องรับมือกับพฤติกรรมนั้นหรือต้องรับผลที่จะตามมา

เมื่อเราพูดถึงเรื่องพฤติกรรม เรากำลังหมายถึงพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้มากกว่าพฤติกรรมที่สังเกตไม่ได้ พฤติกรรมมีความสัมพันธ์และขึ้นอยู่กับผู้รับแต่ละคน ดังนั้น ปฏิกิริยาของผู้รับแต่ละคนที่มีต่อพฤติกรรมบางอย่างจึงอาจแตกต่างกันไป ยกตัวเองเช่น เด็กที่ไม่ยอมหยิบของเล่นของเขาขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจถือว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นความเกเรเพียงเล็กน้อย แต่บางคนอาจเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้

เด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินมักไม่รู้ถึงผลที่จะตามมาในระยะยาวจากพฤติกรรมของ เขา เขามักจะแสดงออกเดี๋ยวนั้นทันที เขาทนไม่ได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของเขาช้า เมื่อเขาอยากได้อะไรก็ตาม เขาอยากได้ในทันที ไม่อย่างนั้นเขาก็อาจร้องตะโกน กัด เตะ หรือบ่นพึมพำ

3 ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกันจะสามารถช่วยในหล่อหลอมพฤติกรรมของเด็กได้ นั่นคือการสร้างลักษณะทางกรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อมในครอบครัว และวัฒนธรรมที่หลากหลายในการดำเนินชีวิตของครอบครัว

นิสัยใจคอ

ในขั้นแรก เราจะดูที่การถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือนิสัยใจคอของเด็ก นิสัยใจคอหรือลักษณะทางพันธุกรรมของเด็กจะอธิบายว่าทำไมคนคนหนึ่งจึงแสดง ปฏิกิริยาตอบสนองแบบนั้นต่อสิ่งกระตุ้น การแสดงออกทางอารมณ์ ระดับของการทำกิจกรรม และความชอบเข้าสังคมดูเหมือนว่าจะมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาของพฤติกรรมที่ ไม่พึงปรารถนา

การแสดงออกทางอารมณ์หมายถึงการกระตุ้นอารมณ์ของเด็กทารกเพื่อตอบสนองต่อ เหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมของเขา การมองเห็นคนแปลกหน้าหรือการพูดคุยกับคนแปลกหน้าอาจทำให้เด็กคนหนึ่งอารมณ์ เสียได้ แต่เด็กอีกคนอาจไม่เป็นก็ได้

ระดับของการทำกิจกรรมหมายถึงพลังที่เด็กได้แสดงออกมาด้วยการเคลื่อนไหวและ การทำกิจกรรมต่างๆ อย่างกระฉับกระเฉง เด็กที่คล่องแคล่วจะไม่ค่อยยอมรับข้อจำกัดทางร่างกายที่คุณพ่อคุณแม่และพี่ เลี้ยงกำหนดให้เขามากกว่าเด็กทารกที่มีความกระฉับกระเฉงน้อย

ความชอบเข้าสังคมหมายถึงความโน้มเอียงของเด็กทารกในการมีปฏิสัมพันธ์กับคน อื่น เด็กซึ่งเข้ากับคนง่ายและเรียกร้องความสนใจอยู่ตลอดเวลา จะต้องการติดต่อทางสังคมมากกว่าเด็กทารกซึ่งจะเรียกร้องความสนใจเฉพาะเวลา ที่เขาหิวหรือผ้าอ้อมเปียกชื้น

สภาพแวดล้อมในครอบครัว

Tสภาพแวดล้อมทางสังคมอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิด พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตารางการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ ปัญหาครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ และสไตล์การเลี้ยงดูอาจส่งผลกระทบกับระดับ ความถี่ และความรุนแรงของการแสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ แต่ต้องทำงานไปด้วยอาจพบว่าลูกค่อนข้างจะมีปัญหาทางด้านการแสดงพฤติกรรมอัน เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกไม่แน่นแฟ้น การไม่ได้รับความเอาใจใส่เพราะคุณพ่อคุณแม่เหนื่อยล้า และความขัดแย้งระหว่างเด็ก ๆ ที่ต้องการความเอาใจใส่กับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลาให้

การเรียนรู้และประสบการณ์


ปัจจัยที่สามคือบทบาทแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ เด็กเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์จากคนอื่นและจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเขา การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนที่ดูแลเขาในช่วงสองถึงสามเดือนแรกของ ชีวิตมักเป็นตัวกำหนดถึงวิธีที่เขาจะแสดงปฏิกิริยาและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขาในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น หากเวลาที่เขาบ่นพึมพำ ร้องไห้ หรือร้องโวยวายแล้วทำให้เขาได้ลูกอม โอกาสที่เขาจะแสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมก็จะยังคงมีอยู่ โดยจะพัฒนาไปเป็นรูปแบบอื่นๆ เมื่อเด็กโตขึ้น

เวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม มันคล้ายกับว่าเขามีเจตนาบางอย่างที่ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมแบบนั้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ข้อเวลาที่เด็กประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม

นั่นคือ

* การเรียกร้องความสนใจ– บางครั้งเด็กประพฤติไม่เหมาะสมเพื่อดึงดูดความสนใจ
* ความต้องการแก้แค้น เด็กอาจต้องการแก้แค้นโดยทำตัวเกเรหรือทำสิ่งที่เป็นอันตราย
* ความต้องการอำนาจ เด็กมักจะท้าทายคุณพ่อคุณแม่เพื่อตอบสนองความต้องการอยากมีอำนาจควบคุม
* การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เด็กที่คิดว่าตัวเองไร้ความสามารถหรือไม่สามารถทำอะไรได้ มักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเด็กได้รับการปกป้องมากจนเกินไป เขาจะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังได้ง่าย

การเรียนรู้เพื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะช่วย ให้คุณแม่รู้ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และดังนั้นจึงสามารถจัดการได้อย่างสอดคล้อง ความรู้สึก การแสดงปฏิกิริยาตอบสนองของคุณแม่ และผลที่จะตามมาจากพฤติกรรมเป็นวิธีการที่คุณแม่จะรับรู้ถึงลักษณะของการ ประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมนั้น

1. แยกแยะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากความรู้สึกที่คุณมีต่อพฤติกรรมนั้น

* การเรียกร้องความสนใจทำให้คุณรู้สึกรำคาญใจ
* ความต้องการอำนาจทำให้คุณรู้สึกโกรธ
* ความต้องการแก้แค้นทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวด
* การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกท้อแท้

2. สังเกตว่าตัวเองมีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร

* การเรียกร้องความสนใจทำให้คุณเตือนเขา โน้มน้าว ว่ากล่าว และอธิบายให้เขาฟัง
* ความต้องการอำนาจทำให้คุณทะเลาะกันหรือยอมแพ้
* ความต้องการแก้แค้นทำให้คุณอยากเอาคืน
* การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทำให้คุณแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

3. สังเกตผลที่จะตามมาในภายหลังสำหรับเด็กที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม

* การเรียกร้องความสนใจทำให้เรามองไปที่เด็กและพูดคุยกับเขา
* ความต้องการอำนาจทำให้เราจับตามองและควบคุมเด็ก
* ความต้องการแก้แค้นทำให้เราลงโทษเด็ก
* การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทำให้เราดูแลและปกป้องเด็ก

ในบทละครดังต่อไปนี้ ให้ถามตัวเองว่าคุณรู้สึกเช่นไรในฐานะที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับปฏิกิริยาของคุณพ่อคุณแม่ และอะไรคือจุดประสงค์ที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น

บทสนทนาที่ 1

คุณแม่: หนูอาบน้ำสดชื่นแล้วใช่ไหมจ๊ะพอล ตอนนี้หนูตัวสะอาดและไม่เปียกชื้นแล้วนะ เอาละ แม่จะวางหนูไว้ในเตียงสักพักนึงนะ
(จอห์น พี่ชายวัยหัดเดินผ่านมาและต่อยพอล)

คุณแม่: อย่านะจอห์น! หนูจะต้องไม่ตีน้องอย่างนั้นนะ ดื้อจังเลย

คุณพ่อ: อย่าทำอย่างนั้นอีกนะจอห์น ไม่อย่างนั้นลูกจะถูกทำโทษนะ
คุณแม่พูดกับคุณพ่อ: ฉันหวังว่าเขาจะไม่ทำอย่างนั้นอีกนะคะ น้องไม่ได้ทำอะไรให้เขาเลย

บทละครนี้เป็นตัวอย่างของการแก้แค้น

บทสนทนาที่ 2

เจสัน: แม่ ผมหาพาวเวอร์เรนเจอร์ของผมไม่เจอ
คุณแม่: ก็อยู่ในกล่องของเล่นที่ลูกเก็บมันไว้ไงล่ะจ๊ะ
เจสัน: ผมหาดูแล้ว แต่ไม่มี
คุณแม่: ไปหาอีกครั้งซิ เมื่อเช้านี้มันยังอยู่เลย
เจสัน: (เดินมาจากกล่องของเล่น) ก็ยังหาไม่เจออยู่ดีครับคุณแม่
คุณแม่: ให้ตายเถอะ (เดินไปที่กล่อง) นี่ไงล่ะ มันก็อยู่ที่ที่แม่บอกหนูนี่แหละ ทำไมถึงไม่มีใครหาของเจอเลยยกเว้นแม่คนเดียว หนูนี่พึ่งไม่ได้จริงๆ เลย

บทละครนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

บทสนทนาที่ 3


คุณแม่: มานี่ซิจอห์น ถึงเวลาที่หนูต้องเก็บของเล่นแล้วนะ (หยุดนิ่ง) จอห์นเก็บของเล่นด้วยนะจ๊ะ (หยุดนิ่ง) จอห์น แม่จะตีนะถ้าหนูไม่เก็บของเล่น มานี่ แม่จะช่วยเอง นี่ไง แม่เก็บรถบรรทุกลงกล่องแล้ว .......

บทละครนี้เป็นตัวอย่างของความต้องการอำนาจ

บทสนทนาที่ 4

คุณแม่: แม่จะโทรหาคุณป้าแมรี่และเตรียมตัวเพื่อไปช็อปปิ้งกับคุณป้าจ๊ะ (หมุนโทรศัพท์) สวัสดีค่ะ นั่นแมรี่ใช่ไหมคะ นี่เจนนะ ว่าอย่างไรคะเรื่องที่จะไปช็อปปิ้งอาทิตย์นี้ (ลูกชายเริ่มร้องไห้และกระแทกของเล่น) ถือสายสักครู่นะคะแมรี่ (วางโทรศัพท์สักครู่หนึ่ง) หยุดนะ แซม! ดื้อจังเลยลูกคนนี้ แม่คุยโทรศัพท์อยู่นะ (วางโทรศัพท์) นี่ไงพาวเวอร์เรนเจอร์ของหนู (กลับมาที่โทรศัพท์) ขอโทษนะคะแมรี่ แซมชอบทำแบบนั้นเวลาที่ฉันคุยโทรศัพท์อยู่เรื่อยเลย (เริ่มส่งเสียงดังอีกครั้ง) โอ้ย เขาทำของเล่นพังแล้ว แมรี่ ไว้ฉันโทรหาตอนที่เขาหลับได้ไหม บายค่ะ

บทละครนี้เป็นตัวอย่างของการเรียกร้องความสนใจ

สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่าพฤติกรรมซึ่งเราเห็นว่าก่อให้เกิด ปัญหานั้น ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสมอสำหรับเด็ก เด็กเล็กมักมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีนักเวลาที่เขาหิว ตื่นกลัว เหนื่อยล้า ไม่สบาย หรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางร่างกาย โดยธรรมชาติแล้ว เด็กเล็กส่วนมากมักจะมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น เอาแต่ใจตัวเอง สมาธิสั้น และต้องการให้คนอื่นตอบสนองความต้องการของเขาในทันที

เวลาที่พิจารณาถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม

การรับรู้ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเขามีจุดมุ่งหมายอะไร จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถตัดสินใจยิ่งขึ้นควรจะทำเช่นไรเมื่อต้องเผชิญ หน้ากับพฤติกรรมเหล่านี้

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Wednesday, August 19, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรเริ่มฝึกให้เขามีระเบียบวินัย )

Posted by wittybuzz at 2:08 AM 0 comments
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลุค ลูกชายอายุหนึ่งขวบของฉันเห็นก้อนหิน เขาชอบตักมันเข้าปากอยู่เรื่อย และเมื่อเขามองเห็นแมว เขาชอบวิ่งพุ่งเข้าใส่มัน ถึงแม้ว่าแมวชอบตะปบและทำเสียงขู่ฟ่อใส่เขาก็ตาม

เด็กๆ มักจะชอบทำแบบนี้จนแทบจะเป็นกิจวัตรประจำวันและเวลาที่คิดว่าจะหาวิธี ป้องกันไม่ให้ลูกชายฉันเป็นอันตรายได้ยังไงโดยที่ไม่ทำร้ายจิตใจเขา ฉันก็จะรู้สึกสับสนมากทุกที จากประสบการณ์ที่ฉันพบเจอมา ฉันว่าการที่จะให้เด็กวัยหัดเดินเลิกกินหินนั้น มันพูดง่าย แต่ทำยาก

เด็กที่ยังเล็กๆ อย่างนี้ การตั้งระเบียบวินัยแบบเดิมๆ เช่น หมดเวลาแล้ว ใช้กับเขาไม่ได้ผลแต่วิธีไหนถึงจะได้ผลล่ะ และอายุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะใช้เทคนิคแบบไหน ดังเช่นที่คุณแม่อาจคาดเดาไว้แล้วว่า ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องเรียนรู้วิธีการฝึก ระเบียบวินัยให้ลูกอย่างถูกต้องพอๆ กับที่ลูกต้องเรียนรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างไม่ปลอดภัยหรือไม่เหมาะสมในสังคม

ท้ายที่สุด การฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกนั้น ต้องใช้เวลานานก็ แต่เมื่อใดที่ฝึกสำเร็จแล้ว มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยของคุณเอง

จุดเริ่มต้นของระเบียบวินัย

การตั้งข้อจำกัด การส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี และการห้ามปรามไม่ให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้งหมดนี้สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ที่ลูกยังเล็กๆ ตามคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญที่ว่า “มีสิ่งที่แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ว่าไม่ควรทำ เช่น ดึงผมคุณแม่” จูดิธ ไมเออร์-วอลลส์ PhD รองศาสตราจารย์ ภาควิชาการพัฒนาเด็กและการศึกษาครอบครัว มหาวิทยาลัยเพอร์ดูกล่าว

เนื่องจากเด็กเล็กๆ มีข้อจำกัดด้านความเข้าใจภาษา ความทรงจำ และสมาธิ ดังนั้น กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงวัยแรกเริ่มคือ การสอนให้เขารู้จักการควบคุมอันตรายแทนที่จะสอนบทเรียนให้เขาอย่างจริงๆ จังๆ การเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก (ซึ่งก็คือการช่วยให้เขาปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่ดีนักให้ดีขึ้น) และการเพิกเฉย คือสองกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกวัย 4 เดือนดึงผมคุณแม่เล่นอย่างสนุกสนาน คุณแม่ก็อาจจะดึงมือของลูกออกอย่างช้าๆ จูบที่มือเขาและนำมือของเขาไปจับสิ่งที่สนุกสนานและเหมาะสมแทน เช่น ของเล่นเขย่าที่มีเสียงหรือของเล่นอื่น ๆ

คุณแม่คงไม่มีวันเพิกเฉยพฤติกรรมซึ่งเป็นไปได้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแน่ๆ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง เวลาที่ลูกน้อยวัย 7 เดือนขว้างปาซีเรียลอย่างสนุกสนานลงมาจากเก้าอี้เด็ก ก็เป็นการฝึกการเคลื่อนไหวที่ดีเหมือนกัน สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรจำก็คือ เด็กที่ยังเล็กมากๆ เขายังไม่รู้ประสีประสา เจ้าตัวน้อยที่กำลังขว้างปาซีเรียลเล่นอย่างสนุกสนาน เขาไม่ได้กำลังพยายามที่จะทำให้คุณแม่รำคาญใจ แต่เขากำลังเรียนรู้ถึงวิธีการควบคุมมือของเขาเองและเริ่มทำความเข้าใจแนว ความคิดเรื่องเหตุและผล ถึงแม้ว่าพฤติกรรมแบบนี้จะสร้างความรำคาญใจให้คุณแม่ไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณแม่อย่าอารมณ์เสียหรือทำอะไรที่รุนแรงจนเกินไป

ในความเป็นจริงแล้วจากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ของคุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกกำลังยั่วโมโหพวกเขาโดยกดรีโมตเปลี่ยน ช่องโทรทัศน์ไม่ยอมหยุด คุณพ่อคุณแม่หลายท่านหงุดหงิดใจมากที่ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ แนนซี่ ซามาลิน ผู้เขียนหนังสือ Loving Without Spoiling (McGraw-Hill/Contemporary Books, 2546) กล่าว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรนิ่งเข้าไว้และทำสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ต่อไป

อายุ 8 ถึง 12 เดือน

เมื่อลูกน้อยเริ่มคลานเมื่อเขาอายุได้ประมาณ 8 เดือน นั่นคือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ควรคิดกำหนดข้อจำกัดสำหรับเขา โดยห้ามเขาไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะของตกแต่งที่ตั้งอยู่บนโต๊ะไปจนถึงม้วนกระดาษชำระที่อยู่ใต้อ่าง ล้างหน้าในห้องน้ำ

เด็กที่อยู่ในช่วงวัยนี้เพียงแค่อยากจะสำรวจ (เขาไม่รู้ว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ) ดังนั้น ของอะไรก็ตามที่คุณแม่ไม่อยากให้ลูกแตะต้อง ก็ให้วางไว้ในที่ที่เขาเอื้อมไม่ถึง และวางของที่เหมาะสำหรับเด็กไว้ในที่ที่เขาหยิบได้ง่าย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกก่อปัญหาและช่วยให้ปฏิบัติ ตามกฎได้ง่ายขึ้นเยอะทีเดียว

แน่นอนว่าส่วนมากเราจะพูดแค่ว่า “อย่านะ” เมื่อจับได้ว่าเจ้าตัวน้อยกำลังก่อเรื่องป่วน แต่โชคไม่ดีที่ว่า วิธีแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กวัยนี้ เขาเข้าใจว่าน้ำเสียงของคำว่า “อย่านะ” มีความหมายแตกต่างจากคำว่า “แม่รักหนู” แต่เขาจะไม่เข้าใจว่าที่จริงแล้ว คำๆ นี้หมายความว่าอะไร ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ใส่ใจคำขอของคุณแม่อีกด้วย

คุณแม่ควรใช้เทคนิคอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างมีข้อจำกัด ดังเช่นที่คริสตินา โซโต ในกรุงนิวยอร์กทำ ”ตั้งแต่ซอนญ่า ลูกสาวของฉันอายุได้ 8 หรือ 9 เดือน ทุกครั้งที่เขาเข้าใกล้ปลั๊กไฟฉันจะพูดว่า ’อาฮ่า!' ด้วยน้ำเสียงสนุกๆ ที่ทำให้เขาตกใจ แล้วเขาก็จะหยุดและมองมาที่ฉัน” คริสตินากล่าว “ฉันทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นสักพัก เขาคลานไปที่ปลั๊กไฟ แล้วก็ชี้ที่ปลั๊ก แล้วก็พูดว่า ’อาฮ่า!' กับฉัน”

อายุ 12 ถึง 24 เดือน


ประมาณช่วงวัยนี้ ทักษะในการสื่อสารของลูกน้อยกำลังพัฒนา ดังนั้น คุณแม่จึงสามารถอธิบายกฎพื้นฐานให้เขาฟังได้ ยกตัวอย่างเช่น อย่าดึงหางแมวนะจ๊ะ นอกจากนั้น คุณแม่ยังสามารถเริ่มพูดคำว่า “อย่านะ” อย่างจริงจังในสถานการณ์ที่เคร่งเครียดได้ การใช้คำมากเกินไปจะทำให้คำนั้นไม่มีความหมาย และที่สุดก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

ทักษะทางร่างกายของลูกจะเป็นส่วนสำคัญของการเล่นอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน เจ้าตัวน้อยที่เพิ่งเริ่มหัดเดินจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับความเป็นอิสระที่เขา เพิ่งค้นพบ และเขาจะรู้สึกหงุดหงิดที่เขาไม่สามารถทำทุกอย่างที่เขาอยากทำได้

เมื่อเขาเข้าสู่ช่วงวัยที่ชอบงอแง แม้ว่าการงอแงของเด็กต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากคุณแม่ แต่การแสดงอารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต และคุณแม่ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบที่เข้มงวดขึ้นกับเขา เช่น ยึดของที่เขาชอบไปหรือขังลูกไว้ในห้อง

เมื่อเขางอแง “คุณแม่จำเป็นต้องเข้าใจลูกของตัวเอง” แคลร์ เลิร์นเนอร์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการของเด็กที่ Zero to Three กล่าว เด็กบางคนสามารถสงบอารมณ์ได้อย่างรวดเร็วเมื่อคุณแม่เบี่ยงเบนความสนใจเขา ส่วนบางคนอาจต้องการการกอด แต่ถ้าเขางอแงนานจนเกินไป ให้พาลูกออกไปจากสถานการณ์นั้นและอธิบายอย่างอ่อนโยนว่าเกิดอะไรขึ้น (“ถ้าหนูร้องโวยวายอยู่อย่างนี้ เราก็เข้าไปในร้านไม่ได้นะ”) จนกว่าเขาจะสงบลง

ความหงุดหงิดที่มาจากความไม่สามารถในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพของ เด็กวัยหัดเดิน อาจทำให้เขาทุบตีหรือกัดได้เช่นกัน การฝึกระเบียบวินัยเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำได้โดย บอกกับลูกว่าสิ่งใดที่ไม่ควรทำอย่างรวดเร็วและอย่างง่ายๆ และเปลี่ยนให้เขาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากลูกตีคุณเพราะคุณขัดจังหวะการเล่นของเขาเพื่อที่จะเปลี่ยนผ้าอ้อม ให้พูดว่า “เราไม่ควรตีนะจ๊ะ เพราะมันเจ็บ” และหยิบของเล่นให้เขาเล่นในขณะที่คุณเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขา

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Tuesday, August 18, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูก )

Posted by wittybuzz at 12:05 AM 0 comments
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคน ที่มีความมั่นใจ สามารถพึ่งตัวเองได้ พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ด้วยความกระตือรือร้น และเป็นคนที่ภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง เด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองคือเด็กที่มีความเคารพในตัวเองสูง เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองและรักตัวเอง

กุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กคือการปลูกฝังให้ลูกมีความ เชื่อมั่นในตนเอง การเคารพในตัวเองเป็นแรงขับเคลื่อนทางพฤติกรรมของเขา หากลูกมีความเคารพในตัวเองสูง เขาจะแสดงพฤติกรรมในลักษณะที่จะทำให้เขาดูมีคุณค่าและชื่นชมในตัวเองมากขึ้น เด็กที่มีความเคารพในตัวเองต่ำจะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกในลักษณะที่เป็นการ ตอกย้ำว่าเขาไม่มีอะไรดีและจะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากเพื่อสร้างความ เชื่อมั่นให้กับเขาว่าเขาสามารถทำได้ดีกว่านั้น!

โดยทั่วไปแล้วคุณแม่สามารถช่วยเสริมสร้างความเคารพในตัวเองให้กับลูกได้ โดยช่วยให้เขารู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้โดยเติมเต็ม 4 หัวข้อดังต่อไปนี้ ได้แก่ ความสัมพันธ์ ความโดดเด่น พลังและการเป็นต้นแบบ

ความสัมพันธ์นี้หมายถึงว่าเด็กรู้สึกว่าตัวเองสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่าง หรือบางคน ลูกน้อยจำเป็นต้องรู้ว่ามีของที่สำคัญหรือคนที่สำคัญเป็นของเขา ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อและคุณแม่ นอกจากนั้นเขายังจำเป็นต้องรู้ว่าคนหรือของที่สัมพันธ์กับเขานั้น คนอื่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก การสอนให้ลูกรู้สึกสัมพันธ์กับร่างกายของเขาเองและสอนให้เขาเชื่อมั่นว่า ร่างกายของเขานั้นสามารถทำงานได้ดี ก็มีความสำคัญเช่นกันเมื่อคุณแม่กำลังพยายามเสริมสร้างความเคารพในตัวเองให้ กับเขา

สิ่งที่ควรทำ


* แสดงถึงความรักใคร่โดยผ่านทางสัมผัสและการแสดงสีหน้าในเชิงบวก
* บอกลูกของคุณว่าคุณรู้สึกดีกับเขา
* ชมเชยเขาเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น “คุณพ่อชอบที่ลูกพูดอย่างนุ่มนวลกับพี่นะจ๊ะ”
* ช่วยให้ลูกเข้าใจถึงผลที่จะเกิดจากพฤติกรรมของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณแม่เห็นว่าเขาทำตัวดีซึ่งส่งผลดีต่อผู้คนรอบข้างเขา
* บอกเล่าความรู้สึกของคุณ ความสนใจ งานอดิเรก กิจกรรม และเรื่องราวในครอบครัวให้ลูกฟัง
* รับฟังลูกของคุณโดยอย่าวิจารณ์เขาอยู่ตลอดเวลา
* ทำบางสิ่งบางอย่างให้ลูกเพื่อเป็นการตอบรับความต้องการหรือความสนใจพิเศษของ เขา ยกตัวอย่างเช่น ให้เขาไปเรียนศิลปะเมื่อเขาแสดงออกว่าเขาสนใจ

การปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้เขาเรียนรู้ที่จะแตกต่างจากคนอื่น ช่วยเสริมสร้างความโดดเด่นและความเคารพในตัวเอง ความรู้สึกโดดเด่นหมายความว่าเด็กจำเป็นต้องรู้สึกว่าตัวเขาเองเป็นคนพิเศษ และอยากให้คนอื่นคิดว่าเขาเป็นคนพิเศษด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ควรทำ

* ส่งเสริมลูกให้แสดงความคิดที่อาจแตกต่างไปจากของคุณเอง
* อธิบายให้ลูกฟังว่าเขาพิเศษยังไง
* ปล่อยให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการของเขาเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และเพิ่มโอกาสให้ลูกได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์
* หลีกเลี่ยงการล้อเลียนหรือทำให้ลูกอาย
* ช่วยหาวิธีแสดงออกซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ให้กับลูก ยกตัวอย่างเช่น บอกให้เขารู้ว่าการวาดภาพบนผนังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่เขาวาดภาพบนกระดานแทนได้

คุณแม่ควรช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขามีอิทธิพลเหนือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของ เขาเอง และควรช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจเวลาที่เขาทำสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของเขา เอง ซึ่งจะช่วยเขาได้หากเขารู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไรและรู้วิธีการรับมือกับความกดดันและความเครียดเพื่อที่ว่า เขาจะได้ไม่สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง หากลูกเชื่อว่าเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาตั้งใจได้สำเร็จและเป็นคนควบคุมสิ่ง สำคัญๆ ในชีวิตของเขาได้เอง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีพลัง

สิ่งที่ควรทำ

* ให้ความรู้กับลูกในเรื่องความรับผิดชอบของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกโกรธ ควรบอกปล่อยให้เขารู้ว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของเขาเอง เมื่อเขาโกรธ
* เมื่อคุณแม่วางแผนกิจกรรมต่างๆ ให้ลูก ควรเตรียมทางเลือกไว้หลายๆ ทาง
* ช่วยให้ลูกรู้จักวิธีการตัดสินใจ
* สอนวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่าให้ลูก
* วางแผนกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ลูกมีโอกาสประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถสิ่งใดได้ดี ก็ให้เขาทำสิ่งนั้น
* ช่วยลูกตั้งข้อจำกัดสำหรับตัวเองและสำหรับคนอื่น

เมื่อลูกคุ้นเคยกับคนที่เป็นแบบอย่างแล้ว เขาจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการแยกแยะถูกผิดและแยกแยะว่าสิ่งใดดีสิ่งใด ไม่ดี เขาจะสามารถเข้าใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตและจะรู้ถึงมาตรฐานจากการ ประเมินพฤติกรรมของเขาที่โรงเรียนและที่บ้าน ผลที่ได้ก็คือ เขาจะรับรู้ว่าเป้าหมายคืออะไรและมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายนั้น โดยที่เขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อประสบการณ์ของเขาขยายวงกว้างขึ้น และประสบการณ์ใหม่ๆ จะไม่เป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรงสำหรับเขาอีกต่อไป

สิ่งที่ควรทำ

* ช่วยให้ลูกเข้าใจถึงค่านิยมที่เขาเชื่อและเล่าค่านิยมของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง
* ช่วยลูกตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและที่สามารถทำให้สำเร็จได้สำหรับตัวเขาเอง
* บอกให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่คาดหวังอะไรจากเขา และตั้งมาตรฐานไว้อย่างชัดเจน
* ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก
* ช่วยให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย

โดยปกติแล้ว เด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองมักจะเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้คนที่ มีความมั่นใจในตัวเอง ควรแสดงความรักต่อลูกและอย่าบังคับให้ชีวิตลูกเป็นอย่างที่คุณต้องการ ให้ความมั่นใจกับเขาว่าเขาจำเป็นต้องสำรวจโลกรอบตัวและเติบโตขึ้นเป็นคนที่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Monday, August 17, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( การสานความสัมพันธ์กับลูกน้อยวัยแบเบาะ )

Posted by wittybuzz at 3:37 AM 0 comments
การเป็นคุณพ่อคุณแม่เป็นประสบการณ์ที่น่า มหัศจรรย์ใจและมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต่างอย่างมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลูกของตัวเองด้วย กันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีตารางการทำงานแสนจะวุ่นวายก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จหากคุณพ่อคุณแม่ทราบวิธีแล้ว

และต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับบางอย่างที่ควรปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ 7 ข้อเพื่อทำความสนิทสนมกับลูกให้มากยิ่งขึ้น

1. สื่อสารระหว่างพ่อแม่-ลูก

แทนที่จะพูดถึงลูกหรือพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุณกับลูกโดยตรง ก้มตัวลงไปให้อยู่ระดับเดียวกับเขา หากคุณพ่อคุณแม่อยากเข้าใจว่าลูกกำลังคิดและรู้สึกเช่นไร ให้ถามเขาและรับฟัง อย่าเพิ่งตัดสินจากอะไรก็ตามที่เขาบอกคุณ ยอมรับความคิดเห็นของลูกและแสดงความรู้สึกถึงแม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับเขา ก็ตาม นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเล่าความคิดและความรู้สึกของตัวเองให้ลูกฟังได้ด้วย

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังจำเป็นต้องย้ำให้ลูกฟังอยู่เสมอว่าคุณรักเขาผ่านทางคำพูด เช่น “แม่รักหนูนะจ๊ะ” และผ่านการแสดงท่าทางที่ไม่ต้องใช้คำพูด เช่น การจูบ กอด หรือตีที่ไหล่เขาเบาๆ

2. ชมเชยลูก

ควรชมเชยลูกเมื่อเขาอะไรก็ตามที่ดีหรือทำสำเร็จ ชมเชยลูกเมื่อเขารู้จักปรับปรุงแก้ไขหรือชมเชยเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่คุณ แม่อยากเห็นอีก คำชมเชยของคุณแม่จะต้องมาจากใจจริงและไม่ควรวิจารณ์เขาด้วย ใช้การชมเชยเพื่ออธิบายให้ลูกฟังว่าอะไรบ้างที่เขาทำและพฤติกรรมใดบ้างที่ คุณชอบ แทนที่จะเพียงแค่พูดว่า “วาดภาพสวยจัง” คุณอาจพูดว่า “แม่ชอบสีที่ลูกใช้ในภาพนี้จังเลย มันทำให้ภาพของหนูสวยมากๆ เลย!” แทนที่จะเพียงแค่พูดว่า “เก่งมาก” คุณอาจพูดว่า “แม่ดีใจนะจ๊ะที่ลูกจัดห้องให้เป็นระเบียบ ห้องหนูดูเรียบร้อยจริงๆ จ้ะ”

3. เผื่อเวลาให้ลูกบ้าง

คุณแม่ควรเผื่อเวลาให้ลูกทุกวัน เวลาที่อยู่กับลูก คุณแม่ควรทุ่มเทเวลาให้ลูกอย่างเต็มที่ ให้ลืมเรื่องงานบ้าน อ่านหนังสือพิมพ์ หรือความวิตกกังวลใจในช่วงเวลานี้ บอกให้ลูกรู้ว่าคุณมีความสุขที่ได้อยู่กับเขาซึ่งจะทำให้ทั้งสองคนใกล้ชิด กันยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน หากมีวันใดวันหนึ่งที่คุณแม่ไม่สามารถใช้เวลาอยู่กับลูกได้ คุณแม่ควรหาวิธีอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น โทรหาเขาจากที่ทำงานเพื่อพูดคุยกัน 5 นาทีเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังคิดถึงเขาอยู่ หรือหากคุณแม่ไม่สามารถทานอาหารมื้อค่ำร่วมกับลูกได้ ให้ทานของหวานด้วยกันทีหลังในตอนค่ำแทน

ในบางครั้งบางคราว คุณแม่ควรใช้เวลาตลอดทั้งวันหรือเพียงครึ่งวันจากตารางเวลาที่แสนวุ่นวายและ ทำบางสิ่งบางอย่างเป็นพิเศษกับลูก เลือกทำสิ่งที่ทั้งคุณแม่และคุณลูกจะได้สนุกไปด้วยกันและไม่ใช่กิจกรรมที่ทำ ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น เดินคุยกันในสวนสาธารณะและทานอาหารกลางวันที่ทั้งสองคนช่วยกันเตรียมในตอน เข้า

4. เล่นกับลูก

เวลาที่คุณแม่ใช้ร่วมกับลูกจะเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอันแน่น เฟ้นกับเขา ความสัมพันธ์นี้จะพัฒนาขึ้นเมื่อลูกน้อยเจริญเติบโตขึ้นเต็มวัย การเล่นกับลูกของคุณไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นราคาแพง คุณแม่อาจใช้เกมในวัยเด็กที่ตัวเองเคยชอบและสอนวิธีการเล่นให้ลูกก็ได้

5. เอาใจใส่ความรู้สึกของลูก


ประสบการณ์ที่ลูกได้รับในแต่ละวัน จะหล่อหลอมความรู้สึกต่างๆ มากมายในตัวเขา เขาอาจมีความสุขได้เพราะคุณครูชมเขา หรืออารมณ์เสียเพียงเพราะเขาทะเลาะกับเพื่อนสนิท คุณแม่ควรค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกและเอาใจใส่ความรู้สึกของเขาทั้งในแง่ บวกและแง่ลบที่เกิดจากประสบการณ์เหล่านี้

รับฟังลูกและคุยกับเขาว่าเขารู้สึกเช่นไร ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่อาจพูดว่า “เท่าที่ลูกเล่าให้แม่ฟัง ฟังดูเหมือนว่าลูกโกรธจอห์นที่เขาพูดลับหลังลูกใช่ไหมจ๊ะ” เวลาที่คุณแม่ให้โอกาสเขาอธิบายความรู้สึกของตัวเอง ควรเอาใจใส่และคุยกับเขาว่าเขารู้สึกเช่นไร นั่นเป็นการแสดงให้เขาเห็นว่าคุณอยากเข้าใจเขาจริงๆ

6. ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง


คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากพยายามที่จะใกล้ชิดกับลูกให้มากยิ่งขึ้นโดยเคร่งครัดมาก จนเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรให้อิสระแก่ลูกในการสำรวจโลกในวิธีที่เหมาะสมกับอายุของเขา ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่อาจอนุญาตให้ลูกไปสวนสาธารณะกับเพื่อนได้โดยอยู่ภายใต้การดูแล การให้อิสระแก่ลูกอย่างเหมาะสมและการให้ความปลอดภัยแก่เขาที่บ้าน จะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคุณแม่กับลูกได้

7. แก้ไขปัญหาร่วมกับลูก


เมื่อลูกเผชิญหน้ากับปัญหา คุณแม่ไม่จำเป็นต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้เขาตลอดเวลา ไม่ต้องคอยบอกเขาว่าควรทำอะไร แต่คุณแม่ก็ไม่อยากปล่อยให้เขาจัดการกับปัญหาตามลำพังเช่นกัน เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรเป็นเพื่อนคู่คิดของลูกในการแก้ไขปัญหา ควรรับฟังและเข้าใจถึงสถานการณ์ ต่อจากนั้นจึงค้นหาว่าลูกคุณคิดเช่นไรหรือรู้สึกอย่างไรกับปัญหานั้น และเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรเสนอทางเลือกอื่นๆ ให้กับเขา และช่วยลูกคิดว่าแต่ละทางเลือกอาจส่งผลอะไรได้บ้างในภายหลัง คุณแม่และลูกสามารถตัดสินใจวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดด้วยกันได้ การแก้ไขปัญหาร่วมกับลูกไม่ได้เพียงแค่สอนให้เขามีทักษะที่สำคัญในชีวิตเท่า นั้น แต่ยังเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองคนต่างร่วมมือกันเพื่อเอาชนะปัญหา

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Sunday, August 16, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( การสานความสัมพันธ์กับลูกน้อยวัยแรกเกิด)

Posted by wittybuzz at 3:32 AM 0 comments
ในช่วงสองสามสัปดาห์แรก อาจดูเหมือนว่าลูกน้อยวัยแรกเกิดของคุณไม่ได้ทำอะไรมากนักนอกจากกินแล้วก็ นอน แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ที่จริงแล้วมีอะไรเกิดขึ้นตั้งเยอะ

1. การสานความสัมพันธ์ในช่วงเริ่มต้น

สิ่งหนึ่งที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้คือ การพึ่งพอคุณแม่เพื่อหาความสะดวกสบายในยามที่เขาต้องการ การสร้างความรู้สึกปลอดภัยและเชื่อมั่นในขณะนี้คือของขวัญอันน่ามหัศจรรย์ใจ ที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมอบให้แก่ลูกน้อยคนใหม่

2. นอน เล่น นอน เล่น

เด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอนวันละ 12 ถึง 16 ชั่วโมง และเขามักจะนอนครั้งละ 2 ถึง 5 ชั่วโมง แม้ว่าเขาจะตื่นขึ้นแล้ว แต่เขาก็อาจยังคงหลับตาอยู่ และเขาสามารถตื่นได้อย่างเต็มที่แค่ครั้งละ 6 ถึง 10 นาทีเท่านั้น คุณแม่ควรใช้ประโยชน์จากเวลาที่เขาตื่นสานความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูก ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยการกอด หรือร้องเพลง หรือพูดให้เขาฟังฝ่ายเดียว

3. บนความเอาใจใส่

เด็กแรกเกิดมองเห็นอะไรบ้าง เขามองเห็นอะไรไม่มากนัก เนื่องจากเขามองเห็นได้แต่ของที่อยู่ใกล้ๆ และจะมองเห็นชัดที่สุดในระยะประมาณ 8 ถึง 10 นิ้ว ซึ่งเป็นระยะของใบหน้าคุณแม่ในขณะที่อุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมกอด การมองเห็นรอบข้างยังคงไม่พัฒนา และขอบเขตการมองเห็นของเด็กจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ ถึงอย่างนั้น เด็กก็ยังชอบมองลวดลายและสีสันที่สว่างสดใส ซึ่งดูเหมือนว่าสีแดงสดใสจะสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กทารกได้มากที่สุด และสีแดงแบบเป็นมันเงาจะดีที่สุดสำหรับเด็ก ในทางตรงกันข้าม สีพาสเทลอ่อนๆ จะดูเลือนลางสำหรับเด็ก ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ดีที่จะทำให้ห้องของลูกเป็นห้องที่มีสีสันมากที่สุดภายใน บ้าน

ในเตียงนอน ลูกน้อยวัยแรกเกิดจะหันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ให้แขวนโมบายสีสันสดใสไว้ทางด้านหนึ่งของเตียงนอนที่ซึ่งอยู่ในระดับกับสาย ตาของลูกน้อย

ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญอาจรู้เรื่องมากมายเกี่ยวกับเด็กทั่วๆ ไป แต่เมื่อคุณแม่ได้เฝ้ามอง โอบกอด ป้อนอาหาร ทำให้ลูกเรอ และแสดงความรักให้ลูกวันแล้ววันเล่า คุณแม่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดสำหรับลูกน้อยของตัวเองโดยเฉพาะ การสังเกตอย่างใกล้ชิดและการทดลองเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้คุณแม่เรียนรู้ว่าลูกน้อยต้องนอนมากเท่าไหร่และควรกระตุ้นเขามาก น้อยแค่ไหนเขาถึงจะชอบ

4. เขาเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรได้มากขึ้น

นอกจากนั้น เด็กวัยแรกเกิดยังไวต่อสิ่งกระตุ้นทางจิตใจอีกด้วย คุณแม่อาจเห็นลูกน้อยร้องไห้งอแง ทำหน้าตาบูดบึ้ง และบางทีก็ดูเหมือนว่าเขากำลังยิ้มอยู่ นั่นหมายความว่าระบบภายในจิตใจของลูกกำลังทำงานอย่างวุ่นวาย

แน่นอนว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณแม่สงสัยเรื่องวิธีการดูแลที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย ควรไปปรึกษากับแพทย์

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Saturday, August 15, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน พัฒนาการทางสังคม และทางอารมณ์ ( มุมมองอารมณ์ของเด็ก )

Posted by wittybuzz at 2:10 AM 0 comments
ชอว์น่าจดจำได้อย่างแม่นยำเมื่อตอนที่เฮย์ลี่ย์ ลูกสาวของเธอยิ้มเป็นครั้งแรก “ฉันเดินไปยังเธอเพื่ออุ้มเธอขึ้นและเธอก็ยิ้มกว้างให้ฉัน ฉันเกือบจะร้องไห้เลยทีเดียว” คุณแม่ของลูกสาวกล่าว

รอยยิ้มครั้งแรกเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงอารมณ์อันน่าทึ่งที่เขาแสดงออกและ เด็กจะสามารถยิ้มได้ภายในขวบปีแรก ในช่วง 3 เดือนแรก เด็กอาจสามารถ “อ่าน” การแสดงอารมณ์และจัดเก็บข้อมูลไว้ในความทรงจำที่กำลังเจริญเติบโตของเขา ประสบการณ์ที่จัดเก็บไว้เหล่านี้จะช่วยให้ลูกสามารถจัดการและควบคุมการแสดง อารมณ์เมื่อเขาโตขึ้นได้

นั่นเขายิ้มจริงๆ หรือเปล่านะ

ในช่วงวัย 3 เดือน ลูกน้อยอาจเพลิดเพลินไปกับการทำความคุ้นเคยกับคุณแม่และสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เขาอาจจะยิ้มง่ายและกระตือรือร้นสนใจมองดูใบหน้าของคนอื่นๆ

“เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับคนอื่นและการแสดงอารมณ์ของพวกเขาเมื่อได้มี โอกาสเฝ้ามอง ฟัง และมีส่วนร่วมในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” กล่าวโดยนพ. นอร์เบิร์ต เฮอร์ชโกวิตซ์ และเอลินอร์ แชพแมน เฮอร์ชโกวิตซ์ ผู้ร่วมกันเขียนหนังสือเรื่อง A Good Start in Life...Understanding Your Child's Brain and Behavior.

นอกจากนั้น คุณแม่ยังคาดหวังได้ว่าจะได้ยินลูกหัวเราะคิกคักเป็นครั้งแรกในระหว่างช่วง เวลานี้ “เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 4 เดือน วิธีที่จะทำให้เขาหัวเราะได้แน่ๆ ก็คือทำเสียงบรือออตลกๆ ให้เขาฟัง และจูบหรือจั๊กจี้ที่ท้องเขา” นอเบิร์ตกล่าว

ปฏิกิริยาตอบสนองของคุณพ่อคุณแม่จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิธีที่ลูกน้อยตอบ สนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต อาร์ลีน วอล์คเกอร์ แอนดรูว์ ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่าเด็กทารกจะพัฒนาความสามารถในการอ่านอารมณ์ของเราได้ตั้งแต่ที่เขา ยังเล็กๆ “เราพบว่าเด็กทารกจะจดจำการแสดงอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ได้เมื่อเขาอายุ 3 เดือนครึ่ง” อาร์ลีนกล่าว

เนื่องจากเด็กทารกจะจ้องมองคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรควบคุมอารมณ์ให้ดี เด็กๆ สามารถรับรู้อารมณ์วิตกกังวลได้มากพอๆ กับความสุข คุณแม่ควรแสดงปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยด้วยน้ำเสียงและการแสดงออกที่อ่อนโยน เมื่อลูกน้อยตื่นตัวและรู้สึกอยากเข้าสังคม คุณแม่ก็ควรตอบสนองเวลาที่เขายิ้มและเวลาที่เขาส่งเสียงอ้อแอ้ ให้รับฟังและพูดคุยกับเขา และตอบสนองเขาอย่างอบอุ่นและปลอบโยนเขาเมื่อลูกรู้สึกวิตกกังวลหรือหวาดกลัว และกำลังร้องไห้ พยายามห่อตัวลูกไว้ในผ้าห่มหรืออุ้มลูกไว้แนบตัวในขณะที่ใส่เขาไว้ในเป้อุ้ม เด็ก อุ้มลูกเดินหรือโยกตัวไปตามเสียงดนตรีที่ขับกล่อมอย่างนุ่มนวล

ลูกมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัว!

ในระหว่างช่วงวัย 6 ถึง 9 เดือน ลูกน้อยอาจเริ่มพัฒนาลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของเขาเอง ในตอนนี้คุณแม่จะคุ้นเคยกับอารมณ์ของลูกและเขาจะแสดง “น้ำเสียง” ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขาเอง บางทีลูกอาจรู้สึกตื่นเต้นเมื่อถึงเวลาอาบน้ำหรือซุกอยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ เมื่อถึงเวลาเข้านอน เขาจะจดจำอารมณ์ต่างๆ ที่มีคนแสดงออกกับเขาทั้งในแง่บวกหรือแง่ลบ เวลาที่มีคนส่งเสียงดังโหวกเหวกหรือเวลาที่คุณแม่สัมผัสลูกด้วยความตึง เครียด ทั้งหมดนี้จะถูกเก็บไว้ในความทรงจำของเขา

ในช่วงวัยนี้ ลูกน้อยจะเพลิดเพลินไปกับการได้อยู่รอบๆ คนที่รักเขา เขาจะเริ่มรู้สึกผูกพันกับคนที่ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะเริ่มรู้สึก “กังวลเมื่ออยู่ห่างแม่” เด็กส่วนมากในช่วงวัยนี้จะแสดงออกถึงความวิตกกังวลและความหวาดกลัวเมื่อคุณ พ่อคุณแม่พ้นจากสายตาเขาไป

ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหมายความว่าศูนย์กลางความทรงจำในสมองของเด็กกำลังเจริญเติบโตอย่างเต็ม ที่ เกมอย่างเช่น เกมจ๊ะเอ๋และเกมเล่นซ่อนหาจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ว่าคนและสิ่งของต่างๆ สามารถหายไปและกลับคืนมาได้

การทำตัวเป็นต้นแบบ

เมื่อลูกน้อยอายุเข้าใกล้สู่ช่วงเดือนสุดท้ายของขวบปีแรก เขาอาจสามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลายระดับยิ่งขึ้น เขาอาจสามารถแยกแยะระหว่างคนที่เขารู้จักเป็นอย่างดีกับคนที่เขาไม่รู้จัก ได้ ลูกอาจมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในตอนนี้และอยากรู้อยากเห็นเพื่อสำรวจสิ่ง ต่างๆ รอบตัว ที่จริงแล้วความเป็นอิสระที่เขาเพิ่งค้นพบใหม่นี้จะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย และมั่นคงเมื่อเขาเคลื่อนตัวออกห่างจากคนที่เขารักและไว้ใจแล้วคลานกลับมาหา ใหม่ อะไรก็ตามที่เขาไม่สบอารมณ์ที่แต่ก่อนทำให้เขาร้องไห้ ตอนนี้เขาอาจจะแค่ทำหน้าบูดบึ้งหรือแค่ส่ายหน้าเพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขา ไม่ชอบ

ลูกอาจจะแสดงสัญญาณว่าเขาหงุดหงิดหรือโกรธ โดยคุณแม่ควรสังเกต “การแสดงอารมณ์อันเกรี้ยวกราดครั้งแรกของลูก” รันต์จำได้ดีว่าเฮย์ลีย์ ลูกสาวของเธอแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเป็นครั้งแรกเมื่อเขาอายุได้ 9 เดือน เขาพยายามใส่บล็อกตัวต่อเข้าไปในของเล่นที่มีรูปร่างเป็นช่องๆ “เขาหงุดหงิดมากและเขาจะกรีดร้องหากเขาใส่บล็อกตัวต่อไม่เข้า หรือไม่เขาก็อาจจะโยนตัวต่อนั่นทิ้งหรือทุบตีของเล่น” รันต์กล่าว

บ่อยครั้งเมื่อเด็กตื่นเต้นมากจนเกินไปหรือได้รับการกระตุ้นมากเกินไป เขาจะรู้สึกหงุดหงิด อาร์ลีนได้ให้คำแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรพยายามทำกิจกรรมอย่างอื่นหลังจากที่ เขาระเบิดอารมณ์ออกมาเช่นนี้ “ปล่อยให้ลูกน้อยแสดงอารมณ์ออกมาและปลอบโยนเขาเพื่อช่วยให้เขาได้เรียนรู้ ที่จะปรับเปลี่ยนการแสดงอารมณ์ในแง่ลบได้เร็วยิ่งขึ้น” อาร์ลีนแนะนำ

ในระยะนี้ ตุ๊กตารูปสัตว์ตัวเล็กๆ น่ากอดสักตัวหรือผ้าห่มนุ่มๆ สักผืนอาจช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจเมื่อเขาเติบโตขึ้นและสำรวจ โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เขากำลังเฝ้ามองทุกการเคลื่อนไหวของคุณ

ความคิดที่ว่าเด็กกำลังเฝ้ามองทุกการเคลื่อนไหวของเราอยู่นั้น อาจทำให้บางคนกระวนกระวายใจและระมัดระวังตัวจนเกินไป นพ. นอร์เบิร์ตได้ให้คำแนะนำอย่างง่ายๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ว่าควรทำตัวเป็นต้นแบบให้ลูก

กำหนดและบังคับใช้แนวทางอันเหมาะสมกับอายุและอารมณ์ของลูก อย่ายิ้มหรือหัวเราะเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่คุณแม่ไม่เห็นด้วย หากลูกเห็นว่าคุณแม่หัวเราะ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้เขาทำพฤติกรรมนั้นอีก คุณแม่ควรตอบสนองเวลาที่ลูกยิ้มและเวลาที่เขาอ้อแอ้ กอดลูกน้อยแน่นๆ หันเหความสนใจของเขาและพูดกับเขาเบาๆ เมื่อเขาโกรธ และควรปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

นพ. นอร์เบิร์ตย้ำเตือนเราว่าเด็กๆ ต้องการสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและที่เขาสามารถคาดเดาได้เพื่อสร้างสัมพันธภาพ อันใกล้ชิดกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา หากเราปล่อยปละละเลยเด็กหรือไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ของเขาอย่างเหมาะสม เขาอาจจะลำบากในการสร้างสัมพันธภาพในเชิงบวกในภายหลัง

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Friday, August 14, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน การพัฒนาทักษะการรับรู้ ( ยิ่งโต ยิ่งฉลาด )

Posted by wittybuzz at 5:06 AM 0 comments
ลูกน้อยจะสนใจในสิ่งรอบตัวมากขึ้น

อะไรคือสัญญาณบ่งบอกว่า “ความรู้สึกนึกคิด” ของลูกกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ในช่วงเริ่มต้น หลังจากที่ลูกน้อยอายุครบสองขวบ คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “สมาธิในการคัดเลือกสิ่งเร้าหรือการจดจ่อ” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คือความสามารถในการตัดสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจจากภายนอกและสามารถ ตั้งสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เมื่ออายุได้ 25 เดือน เด็กๆ ส่วนมากจะสามารถตั้งสมาธิอยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้อย่างต่อเนื่องสอง สามนาที หรืออาจนานกว่านั้นถ้าหากผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ กับเขาด้วย “เด็กในช่วงวัยนี้ยังสามารถคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ด้วย” ชาเรน ฮุสแมน ผู้อำนวยการของ Smart Start Georgia ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพการดูแลเด็กเล็กกล่าวว่า “หากคุณแม่หยิบรถของเล่นให้เขา เขาก็จะเข้าใจว่าเมื่อเขาหมุนล้อรถ รถก็จะวิ่งไปได้”

ถึงแม้ว่าแนวความคิดในเรื่องนามธรรม อย่างเช่น “ดี” หรือ “ยาก” อาจจะมากเกินไปที่เด็กในช่วงวัยนี้จะเข้าใจได้ แต่ชาเรนกล่าวเพิ่มเติมว่า “พวกเขาสามารถจับคู่สิ่งของกับภาพและแยกประเภทสิ่งของต่างได้ตามรูปทรงและ สีสัน” ในตอนนี้ลูกน้อยจะสามารถจำแนกรูปทรงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัส และสามเหลี่ยมได้ ดังนั้น เขาจึงเล่นเกมตัวต่ออย่างง่ายๆ อย่างสนุกสนานมากขึ้น อันที่จริงแล้ว ในบางทีโลกใบนี้ก็เป็นเหมือนเกมตัวต่อขนาดใหญ่ที่ลูกของคุณกำลังพยายามทำ ความเข้าใจ ซึ่งเป็นกระบวนการที่บางครั้งเขาต้องแยกส่วนต่างๆ ออกเพื่อที่ว่าเขาจะประกอบกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ เด็กในช่วงวัยนี้ยังเริ่มทำความเข้าใจในเรื่องของตัวเลข ด้วยยกตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ถามลูกวัย 2 ขวบว่าอยากกินคุกกี้ 1 หรือ 2 ชิ้น พนันได้เลยว่าเขาจะต้องตอบว่าสองชิ้นแน่ๆ!

ความเข้าในเรื่องเหตุและผล

หลักฐานเพิ่มเติมที่ช่วยยืนยันว่าลูกน้อยกำลังเจริญเติบโตขึ้นอย่างชาญฉลาด ก็คือ เขาสามารถเข้าใจในเรื่องเหตุและผลได้อย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อตอนที่เขายังเป็นเด็กแบะเบาะ เขาสังเกตเห็นได้อย่างรวดเร็วว่า ถ้าเขานอนร้องไห้อยู่ในเตียง จะเกิดผลลัพธ์ขึ้น ซึ่งเป็นการสอนเขาว่าเขาสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เพราะการร้องไห้จะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่เขาพึงพอใจ นั่นก็คือคุณแม่จะเข้ามาในห้องและอุ้มเขาขึ้นมาเพื่อให้นม

ตอนนี้ลูกจะยังสังเกตเห็นว่าเมื่อเขาร้องไห้ ไฟจะสว่างขึ้นเมื่อคุณแม่เข้ามาในห้อง– แต่จะเป็นแบบนี้เฉพาะในบางครั้งเท่านั้น แล้วทำไมถึงต้องเป็นเฉพาะในบางครั้งล่ะ เป็นเพราะเสียงร้องไห้ของเขาหรือเปล่าที่ทำให้ไฟสว่างขึ้น หรือว่าเป็นเพราะคุณแม่ หรือเป็นเพราะแสงอาทิตย์ส่องผ่านมาในห้อง เมื่อความสนใจและพลังในการสังเกตสิ่งรอบตัวของเขาเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดเขาก็จะรู้คุณแม่เป็นคนเปิดสวิตช์ไฟ และเข้าใจถึงความสัมพันธ์นี้

การทดลองและการทำซ้ำ


ด้วยพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและความคล่องแคล่วในการใช้นิ้วมือ ลูกวัย 2 ขวบของคุณจึงสามารถทดสอบทฤษฎีเหตุและผลได้อย่างชำนาญยิ่งขึ้น เมื่อเขาไขข้อสงสัยเรื่องสวิตช์ไฟได้แล้ว เขาอาจพยายามดึงเก้าอี้ไปที่ผนังและปีนขึ้นไป และทำให้ห้องเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างสลับไปสลับมา เขาจะตั้งหน้าตั้งตาทดลองทฤษฎีเรื่องเหตุและผลอื่นๆ อีกมากมาย หอคอยตัวต่อจะล้มลงทุกครั้งที่เราผลักไหมน้า คุณพ่อจะทำเสียงดุๆ ทุกครั้งที่เราดึงหางเจ้าหมาน้อยหรือเปล่านะ เนื่องจากการทำซ้ำๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ ดังนั้น ลูกน้อยจึงทดลองเรื่องเหตุและผลแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ในความพยายามของลูกเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เหตุผลของเหตุการณ์ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา เขาจึงชอบทำอะไรที่เป็นกิจวัตร เขาจะขอให้คุณแม่ร้องเพลงเดิมๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเพลงที่มีท่าทางประกอบด้วย เพื่อที่เขาจะได้ทำความเข้าใจกับคำศัพท์และเพื่อดูว่าทุกครั้งที่ร้องเพลง นี้ จะเกิดสิ่งแบบเดิมๆ หรือเปล่า และพฤติกรรมของลูกจะพัฒนาขึ้นได้หากคุณแม่ทำกิจกรรมในแต่ละวันให้เป็น กิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการทำกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ จะช่วยให้เขาในเรื่องการปรับตัวและช่วยสร้างความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจให้กับ เด็กในช่วงวัยนี้ เด็กวัย 2 ขวบที่มีตารางเวลากิจวัตรประจำวันจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเป็นลำดับ ต่อไป เขาจะรู้สึกกังวลน้อยลง และควบคุมแรงผลักดันในตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากลูกรู้ว่าเขาจะต้องเก็บของเล่นก่อนถึงจะได้กินขนมตอนช่วงเช้า คุณแม่ก็จะมีงานที่ต้องทำน้อยลงและเขาจะรู้จักพึ่งตัวเองมากขึ้น

หนูน้อยจอมสร้างปัญหา

ในขณะที่ลูกพยายามที่จะเป็นผู้ควบคุมและผู้บังคับบัญชาในโลกของเขา เขาจะไม่เพียงแค่ทำสกปรกเลอะเทอะเท่านั้น แต่เขายังสร้างปัญหาให้กับตัวเองอีกด้วย เขาอาจปีนขึ้นไปบนเก้าอี้ แล้วก็ปีนขึ้นไปบนเคาน์เตอร์ และก็ปีนต่อขึ้นไปบนตู้เย็นเพื่อหยิบคุกกี้ที่เขาเห็นคุณแม่ซ่อนเอาไว้ตรง นั้น หรือเขาอาจคิดว่าเขาไปหยิบของเล่นต้องห้ามของพี่สาวมาเล่นได้ถ้าเขาแอบเข้า ไปในห้องของพี่ในระหว่างที่พี่ไปเรียน เมื่อพี่ไม่อยู่ ก็ไม่มีใครห้ามเขาได้

แต่ชาเรนได้เตือนเราว่า ลูกอาจไม่ได้มีเจตนาที่จะท้าทาย “ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เด็กทุกคนจะมีแรงผลักดันให้วางแผนสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองและพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เด็กที่อยู่ในช่วงวัยนี้จะมีกลวิธีต่างๆ มากมายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรทำบรรยากาศรอบตัวเขาให้ปลอดภัย และเอาใจใส่เขา แล้วเขาก็จะได้รับแรงกระตุ้นเพื่อพัฒนาทักษะการรับรู้อย่างรวดเร็วจนคุณพ่อ คุณแม่ต้องอึ้งทีเดียว”

ทำไมเด็กถึงชอบร้องไห้งอแง


เด็กส่วนมากสามารถทำสิ่งหนึ่งได้เก่งมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำอย่างไม่ยอมลดละและเป็นเรื่องน่าเหนื่อยหน่ายใจสำหรับ คุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือการร้องไห้งอแง ทำไมเด็กถึงชอบร้องไห้งอแง จุดสำคัญก็คือการร้องไห้งอแงเป็น “การอาละวาดในแบบย่อมๆ” ชาเรน ฮุสแมน ผู้อำนวยการ Smart Start Georgia กล่าว การร้องไห้งอแงเกิดจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากมายแบบเดียวที่กระตุ้นให้เด็กงอแง ได้แก่ ความหิว ความอ่อนเพลีย การถูกกระตุ้นมากจนเกินไป ความไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และท้ายที่สุดก็คือนิสัย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มักเกี่ยวข้องกับช่วงระยะเวลาของพัฒนาการในระหว่างที่ เด็กเกิดความรู้สึกพ่ายแพ้ หรือคาดว่าตัวเองจะล้มเหลวหรือผิดหวัง ชาเรนกล่าว “พวกเขารู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้หรือเหนื่อยก่อนที่จะพยายามลงมือทำด้วยซ้ำไป”

เด็กวัยหัดเดินจะติดนิสัยร้องไห้งอแง เนื่องจากเขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าเวลาที่เขางอแง เขาจะได้สิ่งที่เขาต้องการ เช่นเดียวกับเมื่อมียุงบินเข้าไปในหู จึงเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณพ่อคุณแม่จะเพิกเฉยเมื่อลูกร้องไห้งอแง ไม่ใช่ว่าเจ้าหนูวัยหัดเดินของคุณกำลังพยายามสร้างความรำคาญให้คุณแม่ แต่เขาต้องการเพียงแค่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลตามที่เขาต้องการ (นั่นก็คือทำให้คุณแม่ยอมแพ้เขา) เขาเพียงแต่เป็นผู้ที่ต้องการทำในสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะสร้างผลตอบรับได้ตามที่ต้องการ (การทำให้คุณส่งของให้) ถ้าเขาแค่ทำเสียงฟืดฟาดขึ้นจมูกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ให้สำเร็จในสิ่งที่ เขาต้องการแล้วล่ะก็ คุณแม่ก็ปล่อยให้เขาทำไปเถอะ

คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มความสับสนให้เด็กวัยหัดเดินเกี่ยวกับเรื่องการร้องไห้ งอแง เพราะในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ยอมแพ้เขาเพียงเพื่อให้เขาหยุดร้อง นอกจากนั้น ลูกน้อยของคุณไม่รู้ว่าการร้องไห้งอแงน่ารำคาญใจแค่ไหน เขารู้แต่เพียงว่าเสียงนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่นั่งลงและสนใจเขา “เรายุ่งมากจนกระทั่งละเลยลูกในขณะที่เรากำลังพูดโทรศัพท์มือถือหรือเมื่อมี อะไรตั้งหลายอย่างที่ต้องทำให้เสร็จ” ชาเรนกล่าว “ดังนั้น ลูกของเราก็เลยใช้วิธีร้องไห้โยเยมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเรา”

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Thursday, August 13, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน การพัฒนาทักษะการรับรู้ ( เด็กวัยหัดเดิน ความรู้สึกนึกคิดของเขา )

Posted by wittybuzz at 2:34 AM 0 comments
การคิดล่วงหน้าเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร

ในขณะที่ลูกของคุณมีอายุเข้าใกล้ 2 ขวบ คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด ในช่วงวัยนี้ เด็กส่วนมากจะมีการพัฒนาความสามารถในการคิดล่วงหน้า

ลองใช้กรณีศึกษานี้เป็นตัวอย่าง คือ วันหนึ่งลูซี่อายุ 2 ขวบเดินไปที่ประตูในขณะที่มือแต่ละข้างกำลังถือดอกไม้อยู่ เธอหยุดและรู้ว่าตัวเองเปิดประตูไม่ได้แน่ๆ ถ้ามีของอยู่เต็มมือ เธอวางดอกไม้ลงบนพื้นและเอื้อมมือไปจับลูกปิดประตู จากนั้นเธอก็หยุดอีกครั้ง แล้วก็คิดว่าถ้าเปิดประตูออก ประตูก็อาจจะทับดอกไม้ก็ได้ ท้ายที่สุดหลังจากที่ย้ายดอกไม้ไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว เธอจึงเปิดประตูออก การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการคิดอยู่บ้าง ลูซี่มีจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นอันเป็นผลจากการกระทำของเขา ซึ่งถือว่าลูซี่รู้จักคิดล่วงหน้า

1. เด็กวัยหัดเดินที่ยังเล็กๆ การทดสอบและการเรียนรู้

* ลักษณะการคิดล่วงหน้าของลูซี่นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยหัดเดินที่ยังเล็กๆ ซึ่งยังคงกำลังเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกอยู่ เด็กวัยหัดเดินที่ยังเล็กๆ จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันหมดไปกับการทดลองอย่างง่ายๆ หรือลองสัมผัสกับข้าวของต่างๆ เพื่อดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าลองบีบซอสแอปเปิลดู หรือลองทำบล็อกตัวต่อตกพื้น หรือถ้าลองทุบตัวต่อทรงกลมลงไปในหลุมรูปทรงสี่เหลี่ยมแล้วจะเป็นยังไง

2. เด็กวัยหัดเดินที่โตขึ้นหน่อย ทดลองน้อยลง ใช้จินตนาการมากขึ้น

* เนื่องจากความสามารถด้านความจำของเขาพัฒนาขึ้น เด็กวัยหัดเดินที่โตขึ้นหน่อยจึงเริ่มทดลองน้อยลงและใช้จินตนาการมากขึ้น เขาจะเริ่มคิดว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า...” โดยไม่ต้องลองลงมือทำก่อน ซึ่งความสามารถในการคิดล่วงหน้านี้จะช่วยให้เด็กวัยหัดเดินประหยัดเวลาได้ อย่างมากมาย จึงทำให้เขามีเวลาลองทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น! คุณแม่จะประหลาดใจที่เห็นเจ้าตัวน้อยวัยเตาะแตะเปลี่ยนจากเด็กน้อยวัยแบเบาะ ไปมีลักษณะท่าทางเหมือนเด็กโตมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Wednesday, August 12, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน การพัฒนาทักษะการรับรู้ ( เสียงดนตรีสำหรับลูกน้อย )

Posted by wittybuzz at 12:02 AM 0 comments
คุณแม่กำลังกอดลูกน้อยที่กำลังงอแงไว้แนบอก แกว่งไกวตามจังหวะ และเริ่มฮัมเพลงง่ายๆ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นจังหวะตามการเคลื่อนไหว เสียงของคุณแม่ช่างนุ่มนวลและอบอุ่น โดยร้องเสียงขึ้นๆ ลงๆ ให้ลูกน้อยฟัง ในไม่ช้าลูกน้อยก็ผ่อนคลาย และเขาก็เคลิ้มหลับไปในอ้อมกอดของคุณแม่ คุณแม่ค่อยๆ ร้องเพลงเบาลง และกลายเป็นเสียงกระซิบ จากนั้นก็ค่อยๆ จางหายไป

เราสามารถเห็นฉากเช่นนี้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ในเกือบทุกวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีเสียงเพลงจากวิทยุเทปเหมือนทุกวันนี้ และก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เตียงนอนเด็กที่แกว่งเองได้ คุณแม่เป็นคนแกว่งและร้องเพลงให้ลูกน้อยฟังด้วยตัวเอง และคุณพ่อคุณแม่ส่วนมากก็ยังคงชอบร้องเพลงให้ลูกน้อยฟังเอง

ในทุกวันนี้ เพลงมักอยู่ในรูปเทปหรือซีดี ผมได้เรียนรู้วิธีพาลูกคนแรกของผมเข้านอนโดยฟังเพลงของ Emmy Lou Harris แล้วเต้นไปด้วย (และก็ทำให้ผมชอบฟังเพลงสไตล์ลูกทุ่งอยู่พักหนึ่ง) หลายปีต่อมา ในขณะที่ผมกำลังค้นคว้าเรื่องวิธีและขั้นตอนเกี่ยวกับพ่อและลูกอยู่ ("Daddy's Delight," พฤศจิกายน 2538) ผมก็พบว่าวิธีการพาลูกเข้านอนแบบประหลาดๆ ที่ผมใช้อยู่จนเป็นกิจวัตรประจำวันนี้ มันช่างเป็นวิธีที่แสนจะธรรมดาเหลือเกิน คุณพ่อเกือบทุกคนที่ผมพูดคุยด้วย มีเพลงพิเศษที่เขาใช้เล่นหรือใช้เพื่อปลอบโยนลูกของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกเดินไปพร้อมกับลูกน้อย และหากเปิดเพลงคลอไปด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้สึกสนุกยิ่งขึ้น และหากเปิดเพลงคลอไปด้วยไม่ได้เสียหายอะไร มีแต่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าการปลอบโยนลูกไม่ได้เป็นงาน แต่เป็นความสนุกมากกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็น่าจะหยิบเทปเพลงโปรดขึ้นมาเปิดฟังสักหน่อย แต่นักวิจัยค้นพบว่าเด็กก็ตอบสนองต่อเสียงเพลงเช่นกัน

ใน Your Baby Needs Music บาร์บาร่า เคส เบกส์ ผู้ก่อตั้งโปรแกรมดนตรี Listen, Like, Learn สำหรับเด็กวัยแบเบาะและเด็กเล็กรายงานว่า “เด็กสามารถซึมซับเสียง เสียงพูด และเสียงดนตรีตั้งแต่เขายังเล็กมากๆ และเมื่อเขามีอายุได้ประมาณ 24 วัน เขาจะสามารถแยกแยะการเปลี่ยนแปลงจังหวะเล็กน้อยได้ เมื่ออายุได้หนึ่งเดือน จะสามารถจดจำเสียงของสมาชิกในครอบครัวได้ เมื่ออายุได้ 5 เดือน เด็กจะสามารถจดจำเสียงเพลงทันทีที่เขาได้ยินเสียงส่วนใดส่วนหนึ่งของเพลง หลังจากที่เขาได้ฟังเพลงนั้นทุกวัน

บาร์บาร่ากระตุ้นให้คุณพ่อคุณแม่ให้ใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการเปิดเพลงให้ ลูกฟังเพียงอย่างเดียว และคุณพ่อคุณแม่ควรร้องเพลงให้ลูกฟังเอง ซานดร้า ทรีฮับ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งได้ศึกษาเรื่องของการตอบสนองของเด็กต่อการร้องเพลง เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เธอกล่าวว่า “การร้องเพลงได้ถูกนำมาใช้ในการทำงานและการเล่นทั่วทุกมุมโลก การร้องเพลงสามารถสร้างความเพลิดเพลินใจและทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสานความสัมพันธ์”

ซานดร้าแนะนำว่า ดูเหมือนว่าการร้องเพลงให้ลูกน้อยฟังนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ “แม้ในขณะที่เราคุยกับเด็ก เราก็ยังเปลี่ยนการพูดของเราให้ฟังคล้ายเสียงดนตรีมากยิ่งขึ้น เราทำให้เสียงพูดของเราเป็นฟังดูเป็นจังหวะและมีเสียงซ้ำๆ กันมากยิ่งขึ้น และเรายังเน้นเสียงให้แหลมสูงอีกด้วย การพูดแบบเป็นเสียงเพลงทำให้เสียงฟังดูแสดงออกถึงอารมณ์มากขึ้น และเด็กๆ ก็จะตอบสนองต่อเสียงแบบนี้

ซานดร้ากล่าวอ้างถึงการศึกษาอันน่าตื่นตาตื่นใจชิ้นหนึ่งซึ่งคุณแม่ได้ บันทึกเสียงเพลงเดียวกัน 2 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งร้องให้ลูกฟัง ส่วนอีกครั้งหนึ่งร้องตอนที่อยู่คนเดียว จากนั้นจึงเปิดเทปทั้งสองม้วนให้เด็กฟัง ผู้ใหญ่ที่ดูวีดีโอบันทึกภาพเด็กที่กำลังฟังเทป สังเกตเห็นว่าเด็กดูคล้ายกับว่าจะให้ความสนใจเทปม้วนหนึ่งมากกว่าอีกม้วน หนึ่ง และเทปม้วนที่เด็กสนใจมากกว่าก็คือม้วนที่บันทึกเสียงเพลงที่คุณแม่กำลัง ร้องเพลงให้ลูกฟังนั่นเอง

การร้องเพลงให้ลูกฟังมีข้อได้เปรียบเหนือการเปิดเทปให้ลูกฟังในจุดนี้นี่เอง –นั่นก็คือการสานความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูก

แม้ว่าเหตุผลเหล่านี้จะมีน้ำหนักมากพอแล้วที่คุณแม่ควรจะร้องเพลงให้ลูกฟัง แต่บาร์บาร่ายังอ้างเหตุผลที่ว่าการร้องเพลงยังช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็ก อีกด้วย “ถึงแม้ว่าศูนย์กลางรับรู้เสียงเพลงและศูนย์กลางควบคุมการพูดจะอยู่คนละส่วน กันในสมอง แต่เรารับรู้ว่าการร้องเพลงสามารถช่วยในด้านของการพูดได้ และแน่นอนว่าเสียงฮัมเพลงและการร้องเพลงเป็นทำนองมีลักษณะใกล้เคียงกับการ พูดมากกว่าการร้องเพลง เสียงฮัมเพลงและเพลงกล่อมเด็กมีความสำคัญสำหรับเด็ก เพราะจะช่วยให้เด็กรู้สึกเพลิดเพลินใจและรู้สึกปลอดภัย นอกจากนั้น การร้องเพลงให้ลูกฟังยังเป็นก้าวแรกไปสู่เส้นทางการเรียนรู้อันยาวไกลและจะ ช่วยให้ลูกพูดและเข้าใจคำพูดอีกด้วย”

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณแม่ร้องเพลงไม่เก่งนัก ทั้งซานดร้าและบาร์บาร่าต่างสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังลังเล ไม่กล้าร้องเพลงให้ลูกฟังโดยที่มีผู้ใหญ่คนอื่นอยู่ด้วย ทั้งสองกล่าวว่า ลูกน้อยของเราอาจเป็นผู้ฟังเพียงคนเดียวที่ไม่เคยวิจารณ์การร้องเพลงของเรา เลย ”เด็กๆ จะไม่พูดว่า ‘โอ้โห แม่ร้องเพลง Twinkle, Twinkle Little Star' ไม่เอาไหนเลย" ซานดร้ากล่าวอย่างขบขัน ที่จริงแล้ว เด็กๆ ชอบในแบบที่คุณพ่อคุณแม่เป็น และคุณพ่อคุณแม่ส่วนมากพบว่าตัวเองสามารถร้องเพลงให้ลูกฟังได้อย่างตามใจตัว เองซึ่งแต่ก่อนจะร้องเพลงแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อตอนอาบน้ำเท่านั้น

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท

Tuesday, August 11, 2009

การเลี้ยงดูลูก - ศักยภาพสูงสุดของลูกน้อยด้าน การพัฒนาทักษะการรับรู้ ( เคล็ดลับในการอ่าน )

Posted by wittybuzz at 1:49 AM 0 comments
* ควรเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิด ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการอ่าน
* อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน ทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นเรื่องสนุกสนานในชีวิตประจำวันของลูก
* ทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุกสนาน! หากคุณแม่เพลิดเพลินกับการอ่าน เขาก็จะเพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือด้วยเช่นเดียวกัน เขาจะเชื่อมโยงว่าการอ่านหนังสือทำให้มีความสุข
* เลือกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับลูก ซึ่งควรเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประสบการณ์ในชีวิตของเขา
* สร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับหนังสือ
* คุณแม่กับคุณลูกควรร่วมกันทำหนังสือขึ้นมาเอง ซึ่งอาจเป็นหนังสือเกี่ยวกับตัวเขา เกี่ยวกับครอบครัว โรงเรียน ชีวิต เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมเพื่อกระตุ้นให้เขารักหนังสือ
* พยายามอ่านหนังสือให้ลูกเห็น ไม่ว่าจะเป็นตำรา หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งฉลากข้างกล่องซีเรียล ถ้าเขาเห็นคุณพ่อคุณแม่ชอบอ่าน เขาก็จะอยากอ่านไปด้วย
* อย่าเลือกหนังสือที่มีเนื้อหายาวจนเกินไปหรือซับซ้อนเกินกว่าอายุและ ประสบการณ์ของลูก ซึ่งหากเขาเกิดรู้สึกเหนื่อยและสับสน เขาจะไม่อยากอ่านต่อ
* พาลูกไปฟังนิทานที่ห้องสมุดใกล้ๆ บ้านเป็นประจำ ซึ่งหลังจากฟังนิทานเสร็จ ทางห้องสมุดมักจะมีกิจกรรมด้านศิลปะและงานฝีมือให้เด็กเล่น และลูกจะได้เชื่อมโยงว่าการอ่านหนังสือทำให้สนุกสนานและมีความสุข
* ชื่นชมเวลาที่ลูกพยายามอ่านหนังสือ แม้ว่าเขาจะยังเล็กนักและอาจ ‘อ่านหนังสือ’ โดยใช้ความจำหรืออ่านผิดเยอะก็ตามที ทุกครั้งที่เขาพยายาม คุณแม่ควรชื่นชมและให้รางวัลเขา
* ซื้อหนังสือให้เขาเป็นของขวัญหรือเป็นรางวัลเซอร์ไพรส์ให้เขาเมื่อเขาเป็นเด็กดี

เคล็ดลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่


* อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน
* ทำให้การอ่านหนังสือให้เขาฟังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขา เด็กๆ ชอบการทำอะไรที่เป็นกิจวัตร เพราะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย การอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนเข้านอนเป็นวิธีที่ดีมาก แถมยังช่วยให้เขาเคลิ้มหลับได้ดี
* เลือกหนังสือที่ลูกของคุณสามารถมีส่วนร่วมไปกับหนังสือได้ ไม่ว่าหนังสือที่ใช้คำซ้ำๆ หนังสือที่มีเสียงสัมผัส เป็นเรื่องราวที่เขาสามารถคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้หรือหนังสือที่สอนรูป แบบของคำ จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือประเภทนี้ร่วมกับ เด็ก จะเป็นการพัฒนาวิธีการเรียนรู้คำของเด็กได้ดีขึ้นมาก
* เลือกหนังสือที่เหมาะกับวัย และมีเนื้อหาที่ทำให้ลูกสนใจ
* ควรใช้หนังสือที่มีปกแข็งและหนาสำหรับเด็กเล็กๆ เพราะถึงหนังสือจะอยู่ในปากเขามากกว่าอยู่ในมือ หนังสือก็ยังสภาพดีอยู่
* อย่าพยายามสอนลูกในขณะที่กำลังอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับเขา ทำให้การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุก ปล่อยให้ลูกขัดจังหวะเพื่อถามคำถามและปล่อยให้เขาเล่าเรื่องที่เขารู้ให้คุณ พ่อคุณแม่ฟัง
* ควรแสดงความรู้สึกในขณะที่อ่านหนังสือ หากคุณแม่ตื่นเต้นไปกับการอ่านและตื่นเต้นกับหนังสือ เขาก็จะตื่นเต้นไปด้วยเช่นกัน
* แม้ว่าหากลูกจะสามารถอ่านหนังสือได้แล้ว แต่ก็ควรอ่านหนังสือให้เขาฟังต่อไป
* เก็บหนังสือของเขาไว้บนชั้นเตี้ยๆ หรือเก็บไว้ในกล่องเก็บของที่พวกเขาสามารถเอื้อมถึงและหยิบใช้ได้อย่างง่ายดาย
* ประดิษฐ์หนังสือร่วมกับลูก เพราะจะช่วยส่งเสริมให้เขารักการอ่านและเป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นสำหรับครอบ ครัวด้วย ใช้ภาพถ่ายของลูก สมาชิกในครอบครัว สัตว์เลี้ยง ของเล่นหรือสิ่งของอื่นๆ ที่ลูกคุ้นเคยติดลงไปในแต่ละหน้า ลองทากาวบนกระดาษทราย ผ้า หรืออะไรก็ตามที่เขาสัมผัสได้ เขียนคำหรือสองคำตัวใหญ่ๆ และชัดเจนไว้ใต้รูปภาพและใช้ลวดเย็บกระดาษหรือใช้โบว์ผูกกระดาษแต่ละแผ่น เข้าด้วยกัน

เทคนิคส่งเสริมการอ่าน

เด็กที่ชอบอ่านหนังสือ มักจะมีสมาธิมากกว่า และการมีสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ และต่อไปนี้เป็นเทคนิค ‘ส่งเสริมการอ่าน’ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านได้ของเขาได้

* ปล่อยให้ลูกพลิกหน้าหนังสือเอง หากเขาอยากพลิกหน้านิทานอย่างเร็วๆ ก็ไม่เป็นไร
* ตัวอักษรไม่ได้น่าสนใจสักเท่าไหร่สำหรับเด็กที่ยังเล็กมากๆ เพราะเขาไม่จำเป็นต้องเข้าใจก็ได้ คุณแม่อาจทำให้เวลาอ่านหนังสือน่าสนใจมากขึ้นโดยเชื่อมโยงรูปภาพในหนังสือ กับชีวิตประจำวันของลูก คุณแม่ไม่ต้องกลัวที่จะดัดแปลงเนื้อเรื่องในนิทาน เด็กเล็กๆ ชอบให้คุณแม่เชื่อมโยงเรื่องในนิทานกับชีวิตจริงของเขา
* การมีปฏิสัมพันธ์และการเสริมแต่งเรื่องราวเป็นวิธีกระตุ้นที่ได้ผลมากที่สุด อย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมกับลูกๆ ในขณะที่อ่านหนังสือได้ และวิธีนี้จะช่วยทำให้อ่านหนังสือนั้นได้อย่างสนุกสนาน
* แทนที่จะแก้ไขการออกเสียงของเขา คุณแม่ควรส่งเสริมความเข้าใจของลูกแทน เทคนิคการออกเสียงของเขาจะดีขึ้นเมื่อเขาคุ้นเคยกับคำพูดและเสียงต่างๆ

ที่มา : ฮักกี้ดอทซีโอดอททีเฮท
 

Mama And Baby Care Copyright © 2009 Baby Shop is Designed by Ipietoon Sponsored by Emocutez